สารจากประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่

สังคมไทยยังคงมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มสำคัญอันได้แก่ การรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาค การเข้าสู่ยุคดิจิทัล การขยายตัวของเมือง และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาล (Environment Social Governance: ESG) รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญต่อธุรกิจของธนาคารและลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ธนาคารได้เริ่มดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนองปัจจัยดังกล่าว เช่น การให้สินเชื่อแก่ลูกค้าเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยและธุรกิจให้ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น การสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนและขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ การสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า การให้สินเชื่อเพื่อการปรับตัว การจัดจำหน่ายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน การเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน การขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ทั่วถึงยิ่งขึ้นผ่านตัวแทนธนาคาร การขยายสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานจากการใช้เอกสารมาสู่ระบบดิจิทัล การเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันลูกค้าจากภัยทุจริตทางการเงิน และการทำงานเพื่อร่วมแก้ปัญหาของชุมชน นอกจากการให้บริการทางการเงิน ธนาคารยังจัดทำโครงการเพื่อให้ความรู้แก่ลูกค้าในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับข้อกำหนดใหม่ๆด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล

วิถีสู่ความยั่งยืน

แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน


ในปัจจุบันสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมีความไม่แน่นอนและสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วจนเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของธุรกิจ ธุรกิจที่สามารถปรับตัวและรับมือได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงทีจะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือคู่แข่ง นอกจากนี้ ธุรกิจที่ดำเนินงานโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จะมีมุมมองที่กว้างขวาง มองเห็นโอกาสและความเสี่ยงได้อย่างครอบคลุม ทำให้สามารถวางกลยุทธ์และมาตรการต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและลดความเสี่ยงด้าน ESG ได้อย่างเหมาะสม

ธนาคารตระหนักดีถึงความคาดหวังที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มมีต่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืนหรือด้าน ESG ของธนาคาร รวมถึงตระหนักถึงทิศทางนโยบายของหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องการผลักดันให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 ธนาคารจึงกำหนดนโยบายด้านความยั่งยืนและวางกรอบการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับบริบททางธุรกิจของธนาคารและความสนใจของผู้มีส่วนได้เสีย ธนาคารได้นำประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่ได้จากการประเมินแบบ 2 มิติ (Double Materiality) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม มาเป็นจุดตั้งต้นในการวางกลยุทธ์ พร้อมทั้งได้ระบุความมุ่งมั่น ตัวชี้วัด และเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวของแต่ละประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจดำเนินงานด้านความยุ่งยืนของธนาคาร ซึ่งนโยบายและกลยุทธ์ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารระดับสูงและได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคาร

นโยบายด้านความยั่งยืน


ธนาคารได้กำหนดนโยบายด้านความยั่งยืนอันประกอบด้วยการดำเนินงาน 4 แนวทาง ดังนี้

  1. การบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบและรอบด้าน ครอบคลุมประเด็นที่มีนัยสำคัญทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมติดตามสถานการณ์และประเมินโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
  2. การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม การดูแลความปลอดภัยและอาชีวอนามัยรวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และการพัฒนาทักษะความรู้ของพนักงาน
  3. การกำกับดูแลกิจการที่ดี
  4. การสร้างสรรค์คุณค่าที่ยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการเข้าถึงบริการทางการเงิน การมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม และการส่งเสริมคู่ค้าให้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน การสื่อสารและการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย และการเสริมสร้างศักยภาพของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ เพื่อให้เกิดการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล




การมีส่วนร่วมและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย

ธนาคารเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดี นำไปสู่ประโยชน์ร่วมกันระหว่างธนาคารและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ธนาคารให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียมาโดยตลอด เพื่อให้ทราบถึงความคาดหวัง ความต้องการ ตลอดจนผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของธนาคารที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งเชิงบวกและลบในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ในการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย ธนาคารยึดหลักการตามมาตรฐานสากล AA1000 Account Ability Principles (2018) 4 ประการ ได้แก่ 1. การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม 2. การพิจารณาประเด็นที่สำคัญต่อธนาคารและผู้มีส่วนได้เสีย 3.การตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย และ 4. ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยมุ่งหวังให้กระบวนการมีส่วนร่วมของธนาคารเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ธนาคารกำหนดให้มีการรายงานผลการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียต่อคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการเป็นประจำทุกปี


ขั้นตอนการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย

  1. การระบุผู้มีส่วนได้เสีย: การระบุกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย โดยพิจารณาความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ความรับผิดชอบ อำนาจโน้มน้าวความสัมพันธ์ การพึ่งพา และผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของธนาคารที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย
  2. การประเมินระดับผลกระทบจากกิจกรรมของธนาคารที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย: การประเมินและจัดระดับผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบที่กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียได้รับจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของธนาคาร ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม รวมถึงด้านสิทธิมนุษยชน
  3. การประเมินระดับอำนาจโน้มน้าวของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อธนาคาร: การประเมินอำนาจโน้มน้าวของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อธนาคาร ครอบคลุมด้านการเงิน การดำเนินงาน กฎระเบียบข้อบังคับ ชื่อเสียง ความเสี่ยง และกลยุทธ์
  4. การจัดลำดับความสำคัญของผู้มีส่วนได้เสีย: ผู้มีส่วนได้เสียของธนาคารแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตามระดับผลกระทบของที่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับจากการดำเนินงานของธนาคาร และระดับอำนาจโน้มน้าวที่ผู้มีส่วนได้เสียมีต่อธนาคาร ได้แก่ 1. ผลกระทบมาก อำนาจโน้มน้าวมาก 2. ผลกระทบมาก อำนาจโน้มน้าวน้อย 3. ผลกระทบน้อย อำนาจโน้มน้าวมาก และ 4. ผลกระทบน้อย อำนาจโน้มน้าวน้อย

การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย

ธนาคารเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร เพื่อให้ธนาคารเข้าใจถึงผลกระทบ ความต้องการ และความคาดหวัง ธนาคารจะนำข้อมูลความคิดเห็นต่าง ๆ มาใช้ประกอบการกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ผู้มีส่วนได้เสียของธนาคารแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน 2. ลูกค้า (ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล) 3. พนักงาน 4. คู่ค้า (ผู้ขายสินค้า ผู้ให้บริการภายนอก และผู้รับเหมาจัดจ้าง) 5. เจ้าหนี้ 6. สถาบันการเงินอื่น และ 7. ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม (รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแล ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน) ผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มมีประเด็นที่ให้ความสำคัญแตกต่างกัน รวมทั้งมีรูปแบบและช่องทางการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย

การประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

ธนาคารจัดให้มีการทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนเป็นประจำ ทุก 2 ปี ในปี 2566 ธนาคารได้ปรับปรุงการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน โดยนำแนวทางการประเมินประเด็นสำคัญแบบ 2 มิติ มาใช้ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการจัดทำรายงานความยั่งยืน Global Reporting Initiative (GRI) ฉบับปี 2021 แนวทางดังกล่าวเน้นการประเมินว่ากิจกรรมทางธุรกิจของธนาคารในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนนั้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไร โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่าประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารอย่างไร ผลการประเมินทั้ง 2 มิตินี้ จะถูกนำไปใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกและจัดลำดับความสำคัญของประเด็นด้านความยั่งยืนของธนาคารต่อไป

กระบวนการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของธนาคาร

  1. การศึกษาทำความเข้าใจบริบทด้านความยั่งยืนขององค์กร
  2. การระบุและประเมินผลกระทบ
  3. การจัดลำดับความสำคัญประเด็นด้านความยั่งยืน
  4. การตรวจทานและทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนการพิจารณาทบทวนประเด็นสําคัญด้านความยั่งยืน

การจัดลำดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ปี 2566-2568


การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ธนาคารสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals: UNSDG) ผ่านการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของธนาคาร โดยธนาคารได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนไว้ 5 แนวทาง แบ่งออกเป็นประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน 12 ประเด็น ซึ่งแต่ละประเด็นได้ถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจของธนาคาร เพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และร่วมสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลให้ธนาคารสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

การสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ธนาคารจึงมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ มาตรฐาน และความคิดริเริ่มด้านความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมทั้งให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด ในปี 2566 ธนาคารได้แสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งได้รับฉันทามติจากการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่ประเทศไทยเมื่อปี 2565 โดยการประกาศเป้าหมาย ขยะฝังกลบเป็นศูนย์ที่อาคารสำนักงานพระราม 3 ภายในปี 2568 นอกจากนี้ ธนาคารในฐานะสมาชิกสมาคมธนาคารไทยได้เข้าร่วมจัดทำคู่มือมาตรฐานอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Industry Handbook: Internalizing Environmental And Climate Change Aspects Into Financial Institution Business For Banks) เพื่อตอบรับแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่คาดหวังให้สถาบันการเงินสามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดจนกำหนดกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainable Finance Products) นอกจากนี้ ธนาคารได้เข้าร่วมกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนของภาคการธนาคารร่วมกับธนาคารสมาชิกสมาคมธนาคารไทยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของภาคการธนาคารอย่างเป็นรูปธรรมหลังจากที่ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมย์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Declaration) ไว้เมื่อปี 2565


การเป็นสมาชิกขององค์กรต่าง ๆ

ธนาคารให้ความสำคัญกับการสนับสนุนและร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนมุ่งสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและเป้าหมายตามความตกลงปารีส ผ่านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรต่าง ๆ รวมถึงการให้ผู้บริหารของธนาคารเข้าร่วมดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการและคณะทำงานของเครือข่ายหรือสมาคมธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Climate Change Mitigation) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด (Energy Transition) ต่อหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนภาคส่วนต่าง ๆ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้ตามเป้าหมายของประเทศ ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ การจัดกิจกรรมความรู้ และการประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ การเข้าร่วมในคณะกรรมการหรือคณะทำงานดังกล่าวของผู้บริหารธนาคารจะต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายจัดการ และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายหรือสมาคมธุรกิจต่าง ๆ ของธนาคารจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคาร โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์และกิจกรรมของเครือข่ายหรือสมาคมธุรกิจว่าสอดคล้องกับเป้าหมาย นโยบาย และแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารหรือไม่ รวมทั้งประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก

5 กลุ่มประเด็นด้านความยั่งยืน

การบริหารจัดการเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพการเงินของลูกค้าและธนาคาร และสร้างความมั่นใจว่าธนาคารสามารถตอบสนองต่อภาวะวิกฤตและความท้าทายต่าง ๆ รวมถึงฟื้นตัวสู่ภาวะปกติได้อย่างยั่งยืน

การจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤต

การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างความยั่งยืน ส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินและการเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

การเงินเพื่อความยั่งยืน

การให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง

การแสดงความรับผิดชอบและสร้างคุณค่าต่อสังคม

การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนฟุตพริ้นท์

การดำเนินธุรกิจโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ ส่งมอบประสบการณ์การใช้บริการที่ปลอดภัยและไร้รอยต่อ ตลอดจนสร้างเสริมและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า

การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม

การจัดการด้านลูกค้าสัมพันธ์

การดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความปลอดภัยและเอื้อต่อการปฏิบัติงาน ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมพนักงานสามารถพัฒนาทักษะได้อย่างต่อเนื่องและเติมเต็มความใฝ่ฝันทั้งในด้านส่วนตัวและหน้าที่การงาน

การดึงดูดและพัฒนาพนักงาน

การดูแลสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

การปลูกฝังธรรมาภิบาลที่ดีในองค์กร ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางการ สนับสนุนให้คู่ค้าปฏิบัติตามหลักจริยธรรมทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและ ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ

การกำกับดูแลกิจการ

จรรยาบรรณธุรกิจ

แบบ 56-1 One Report / รายงานประจำปี และรายงานความยั่งยืน

*แบบ 56-1 One Report เริ่มปี 2564

รายงานความยั่งยืนปี 2565

ฉบับเต็ม

*แบบ 56-1 One Report เริ่มปี 2564

แบบ 56-1 One Report
ปี 2564

ฉบับเต็ม เอกสารแนบ

รายงานความยั่งยืนปี 2564

ฉบับเต็ม

*แบบ 56-1 One Report เริ่มปี 2564

รายงานประจำปี 2563

ดาวน์โหลด PDF

รายงานความยั่งยืนปี 2563

ดาวน์โหลด PDF

รายงานประจำปี 2562

ดาวน์โหลด PDF

รายงานความยั่งยืนปี 2562

ดาวน์โหลด PDF

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ