นโยบายสิทธิมนุษยชน

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มควบคู่ไปกับการเคารพสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายในประเทศและมาตรฐานสากล ธนาคารมีการบริหารจัดการความเสี่ยงและผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เกิดขึ้นโดยทางตรงจากการดำเนินธุรกิจของธนาคารเอง และทางอ้อมผ่านกิจกรรมทางธุรกิจของลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งธนาคารอาจมีส่วนในการทำให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายต่อผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ยังอาจส่งผลต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นที่ผู้มีส่วนได้เสียมีให้ต่อธนาคารด้วย

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชน ธนาคารจึงกำหนดนโยบายสิทธิมนุษยชนซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศและมาตรฐานสากลที่สำคัญ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) และอนุสัญญาหลักด้านสิทธิแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (The International Labour Organization (ILO) Conventions) เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติของผู้บริหารและพนักงานทั่วทั้งองค์กร ธนาคารได้นำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) มาใช้เป็นกรอบแนวทางการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน โดยจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) เป็นประจำทุก 3 ปี เพื่อระบุและประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอันอาจเกิดจากกิจกรรมทางธุรกิจของธนาคารเองและคู่ค้า ตลอดจนกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ธนาคารจัดให้มีช่องทางการร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษชนที่สะดวกต่อการเข้าถึงกระบวนการจัดการข้อร้องเรียนที่โปร่งใส การเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม การติดตามและรายงานผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีส่วนได้เสียที่มีประสิทธิผล นอกจากนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นเรื่องความสำคัญของการดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อปลูกฝังให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร

ขอบเขต
นโยบายสิทธิมนุษยชนฉบับนี้กำหนดแนวปฏิบัติซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานทั้งหมดของธนาคาร และการดำเนินงานของคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจในส่วนที่ธนาคารเข้าไปเกี่ยวข้อง
แนวทางปฏิบัติ
ธนาคารเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และความเสมอภาคที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทาง เชื้อชาติ ศาสนา เพศ สีผิว ภาษา หรือสถานะอื่นใด โดยมีแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม ดังนี้

ลูกค้า

  • ธนาคารเคารพสิทธิของลูกค้าและปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
  • ธนาคารตระหนักว่าการได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกค้า พร้อมทั้งมุ่งมั่นให้บริการทางการเงินที่เป็นธรรมแก่ลูกค้าตามแนวปฏิบัติที่ดี
  • ธนาคารเคารพสิทธิของเจ้าของข้อมูลและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยการรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศอย่างเข้มงวดและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
  • ธนาคารกำหนดให้ประเด็นสิทธิแรงงานและสิทธิชุมชนเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ธนาคารใช้ประกอบการพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ ภายใต้กรอบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในกระบวนการสินเชื่อของธนาคาร และธนาคารจะไม่สนับสนุนสินเชื่อแก่กิจกรรมที่มีการค้ามนุษย์ บังคับใช้แรงงาน หรือใช้แรงงานเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามที่ระบุไว้ในนโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคาร

พนักงาน

  • ธนาคารเคารพสิทธิของพนักงานทุกคน และปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ
  • ธนาคารไม่บังคับใช้แรงงาน ไม่ใช้แรงงานเด็ก เคารพสิทธิในการเข้าร่วมสหภาพแรงงานและเจรจาต่อรองร่วม ให้เสรีภาพในการสมาคม ดูแลด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน กำหนดค่าตอบแทนโดยยึดหลักความเท่าเทียมและเป็นธรรม ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับด้านแรงงานที่เกี่ยวข้อง

คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ

  • ธนาคารกำหนดให้คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล
  • ธนาคารกำหนดให้คู่ค้าปฏิบัติตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนตามที่ระบุไว้ในจรรยาบรรณคู่ค้าของธนาคาร และพร้อมสนับสนุนให้คู่ค้าสามารถปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ค้าได้อย่างครบถ้วน
  • ภายใต้กรอบการบริหารจัดการความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานของธนาคาร ธนาคารจัดให้มีกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าซึ่งมีปัจจัยด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิแรงงานและสิทธิชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนของคู่ค้าเป็นระยะ และมีการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินงานของคู่ค้า เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
การรับเรื่องร้องเรียนและข้อเสนอแนะ

ธนาคารจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายสิทธิมนุษยชนของธนาคาร


ช่องทางการติดต่อ

 

  • ไปรษณีย์
    เลขานุการบริษัท หรือ หน่วยงานกำกับดูแล (Compliance)
    333 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500

  • เว็บไซต์
    กรอกแบบฟอร์มเพื่อขอร้องเรียนที่ https://www.bangkokbank.com/th-TH/Contact-Us

  • โทรศัพท์
    ทางบัวหลวงโฟน 1333 หรือ (66) 0 2230 2888
กระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ ธนาคารจะทบทวนนโยบายสิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอันสมควรแก่การทบทวน และจะสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้เสียทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ