นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนได้เสีย และเสริมสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ธนาคารจึงมุ่งส่งเสริมให้การดำเนินกิจการของธนาคารเป็นไปตามหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดีอันจะเป็นพื้นฐานของผลการดำเนินงานที่ดี ฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและมั่นคง และการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน

ความมุ่งหมายของธนาคาร คือ การเป็นธนาคารที่ให้บริการด้านการเงินที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย มีความพร้อมด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ มีเทคโนโลยีและระบบงานที่ทันสมัย คงไว้ซึ่งความเป็นสากล ตลอดจนการเป็นธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเอเชีย ดังนั้น เพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายดังกล่าว ธนาคารจึงกำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและภูมิภาค

หลักการสำคัญ

การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย
ธนาคารตระหนักถึงสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายของผู้ถือหุ้น และให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ (ได้แก่ พนักงาน คู่ค้า ชุมชน คู่แข่ง เจ้าหนี้ เป็นต้น) และจะดูแลให้มั่นใจว่าสิทธิดังกล่าวหรือข้อตกลงที่กระทำร่วมกันได้รับการคุ้มครอง และปฏิบัติด้วยดี ทั้งนี้ ธนาคารตระหนักว่าความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีระหว่างธนาคารกับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย เป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้ธนาคารสามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางและหลักความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจอันเป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและภูมิภาค
การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดเผยสารสนเทศที่มีสาระสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุน และจะดูแลให้การเปิดเผยสารสนเทศดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องและทันเวลา 
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการธนาคาร
คณะกรรมการธนาคารมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ ความซื่อสัตย์สุจริต และดำเนินกิจการของธนาคารให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของธนาคาร และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคาร

คณะกรรมการธนาคารพึงมีสัดส่วนของกรรมการที่เป็นผู้บริหาร กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และกรรมการอิสระที่เหมาะสมเพื่อเป็นการถ่วงดุลสำหรับการดำเนินกิจการธนาคาร
การควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง
ธนาคารให้ความสำคัญในเรื่องของการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง และการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
จรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ
ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญต่อจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ ซึ่งให้ถือเป็นมาตรฐานการปฏิบัติตนสำหรับกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร พนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องของธนาคาร

แนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี

การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย
1. ธนาคารให้ความสำคัญที่จะดูแลให้ผู้ถือหุ้นได้รับการปฏิบัติด้วยดีและเหมาะสมภายใต้ขอบเขตแห่งกฎหมาย และข้อตกลงที่ให้ไว้กับผู้ถือหุ้น จะปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันตามแนวทางและหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งจะให้การสนับสนุน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นด้วยตนเองหรือมอบฉันทะ ตลอดจนส่งเสริมการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น เช่น เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอวาระการประชุม และเสนอชื่อบุคคลที่เห็นควรเป็นกรรมการธนาคารให้ธนาคารพิจารณาเป็นการล่วงหน้า เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่งคำถามล่วงหน้าก่อนวันประชุม เป็นต้น

2. ธนาคารจะปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ โดยยึดมั่นในหลักความซื่อสัตย์สุจริต และสนับสนุนบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างธนาคารกับผู้มีส่วนได้เสียในการสร้างความมั่งคั่ง ความมั่นคงทางการเงิน และความยั่งยืนของกิจการ ทั้งนี้ ธนาคารได้กำหนดแนวทางปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้

(1) ธนาคารให้ความสำคัญต่อคุณค่าของทรัพยากรบุคคล โดยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลของธนาคารด้วยการฝึกอบรม การจัดหลักสูตรที่หลากหลายและเหมาะสมแก่การเรียนรู้ จัดให้มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ถูกสุขอนามัยตามมาตรฐานสากล จัดเก็บข้อมูลสถิติหรืออัตราการหยุดงานหรืออัตราการเจ็บป่วยจากการทำงาน รวมทั้งให้ความสำคัญต่อสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม โดยจัดให้มีค่าตอบแทนและสวัสดิการของพนักงานที่เหมาะสมสอดคล้องกับผลประเมินการปฏิบัติงาน สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ทิศทาง และผลการดำเนินงานของธนาคาร ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

(2) ธนาคารยึดถือและปฏิบัติตามหลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนตามกฎหมาย ธนาคารจะไม่ดำเนินการใดๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามหรือข่มขู่ หรือมีการถูกล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล

(3) ธนาคารให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อลูกค้าซึ่งเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในการประกอบธุรกิจของธนาคาร ธนาคารจะปฏิบัติต่อลูกค้าในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อมุ่งสู่ความเจริญก้าวหน้าร่วมกัน

(4) ธนาคารยึดถือและให้ความสำคัญต่อการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรมและมีมาตรฐาน และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า

(5) ธนาคารยึดถือและให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติที่เสมอภาคเป็นธรรมและรับผิดชอบต่อคู่ค้าตามเงื่อนไขสัญญาที่ตกลงกัน โดยถือว่าคู่ค้าเป็นผู้ที่มีส่วนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของธนาคาร มีแนวปฏิบัติที่ดีในการคัดเลือกและการทำธุรกรรมกับคู่ค้า จะปฏิบัติตามสัญญาด้วยความเข้าใจและความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน คำนึงถึงประเพณีปฏิบัติและมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

(6) ธนาคารถือปฏิบัติในการให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ และรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ ตามกฎหมายและข้อตกลงที่ทำต่อกัน

(7) ธนาคารตระหนักและให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ความมั่นคง อาชีวอนามัย อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคม นอกจากนี้ ธนาคารยังให้การส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำเนินกิจการของธนาคาร และสนับสนุนมาตรการการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีส่วนร่วมในการรณรงค์หรือการสร้างความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์พลังงานและการรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อประโยชน์อันยั่งยืน

(8) ธนาคารสนับสนุนการดำเนินภารกิจและกิจกรรมต่างๆ ในการพัฒนาชุมชนเพื่อเกื้อกูลชุมชนและสังคม

(9) ธนาคารให้ความเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ โดยจะไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ของผู้ใด

(10) ธนาคารจะทำกิจกรรมหรือปฏิบัติภารกิจต่อสังคมด้วยมิตรภาพที่ดีและด้วยความเอื้ออาทรเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างเหมาะสม

(11) ธนาคารให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติและการมีหลักปฏิบัติ เพื่อยับยั้งหรือห้ามการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายหรือขาดความชอบธรรม เช่น การห้ามการใช้ข้อมูลภายในเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ การกำหนดให้กรรมการธนาคารรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์ของธนาคารให้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารทราบ และการรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการ เป็นต้น

(12) ธนาคารให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติและการมีหลักปฏิบัติเพื่อควบคุมดูแลและจัดการในเรื่องที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด

(13) ธนาคารจัดให้มีช่องทางและระเบียบวิธีปฏิบัติในการแจ้งเบาะแส (Whistle Blowing) เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมาย ความถูกต้องของรายงานทางการเงิน ระบบควบคุมภายในที่บกพร่อง หรือการฝ่าฝืนจรรยาบรรณและจริยธรรมได้โดยตรงผ่านช่องทางที่ธนาคารกำหนด ซึ่งครอบคลุมถึงกระบวนการและช่องทางในการรับและจัดการกับข้อร้องเรียนของผู้มีส่วนได้เสีย และการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้แจ้งเบาะแส และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับความเป็นธรรมและไม่ถูกกลั่นแกล้ง
การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
1. ธนาคารให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยสารสนเทศที่มีสาระสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนอย่างถูกต้องและทันเวลา

2. ธนาคารจัดทำรายงานทางการเงินที่ถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป และมีผู้สอบบัญชีอิสระตรวจสอบและให้ความเห็นต่อรายงานทางการเงินนั้นตามมาตรฐานการสอบบัญชี

3. ธนาคารดำเนินการเผยแพร่สารสนเทศผ่านช่องทางที่สมควรและเหมาะสม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนได้รับสารสนเทศอย่างกว้างขวาง
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

ธนาคารตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการธนาคารที่มีต่อผู้ถือหุ้นในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธนาคารและผู้ถือหุ้น

 

1. คณะกรรมการธนาคารประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ และมีภาวะผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับ โดยมีทั้งกรรมการที่เป็นผู้บริหาร กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และกรรมการอิสระ ทั้งนี้ จำนวนและสัดส่วนของกรรมการประเภทต่างๆ จะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความจำเป็นที่เปลี่ยนแปลงไป

2. คณะกรรมการธนาคาร มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบาย และแนวทางการประกอบธุรกิจของธนาคาร และกำกับดูแลการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคาร โดยหน้าที่และความรับผิดชอบหลักดังกล่าว จะครอบคลุมทั้งในด้านการให้นโยบายหรือข้อชี้แนะในการประกอบธุรกิจแก่ฝ่ายจัดการ และกำกับดูแล การทำงานของฝ่ายจัดการให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธนาคารและผู้ถือหุ้น

3. คณะกรรมการธนาคารกำหนดให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ โดยกำหนดวันประชุมล่วงหน้าเป็นประจำตลอดทั้งปี และอาจมีการเรียกประชุมเพิ่มเติมตามความจำเป็นและเหมาะสม

4. ในการประชุมคณะกรรมการธนาคาร กรรมการสามารถอภิปราย ซักถาม และแสดงความคิดเห็น ตลอดจนใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจได้อย่างอิสระ

5. คณะกรรมการธนาคารเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดให้มีการทำรายงานทางการเงินของธนาคารให้ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง เชื่อถือได้และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป

6. คณะกรรมการธนาคารจะจัดให้มีคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ เพื่อช่วยกลั่นกรองงาน ศึกษาในรายละเอียด ติดตามหรือกำกับดูแลในเรื่องสำคัญตามที่คณะกรรมการธนาคารมอบหมาย โดยให้มีองค์ประกอบ บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และความจำเป็นของธนาคาร เช่น คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน เป็นต้น

7. ธนาคารกำหนดการดำรงตำแหน่งในบริษัทอื่นของกรรมการธนาคาร รวมถึงประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย และแนวปฏิบัติที่ดีตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจสถาบันการเงิน รวมทั้งมีการจำกัดจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่กรรมการแต่ละคนซึ่งรวมถึงประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งจะดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียนอื่นได้ไม่เกิน 5 แห่ง

8. ธนาคารมีการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนของประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมและการประกอบธุรกิจในฐานะสถาบันการเงินของประเทศ ทิศทาง และผลการดำเนินของธนาคาร ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

9. ธนาคารส่งเสริมสนับสนุนให้กรรมการธนาคารเพิ่มพูนความรู้ในการปฏิบัติงาน และเข้าร่วมในหลักสูตรอบรมหรือกิจกรรมการสัมมนาที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานและต่อธนาคาร

การควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยง
1. ธนาคารดำเนินการให้มีระบบการควบคุมภายในที่เป็นมาตรฐาน หน่วยงานภายในของธนาคารที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน มีดังนี้

(1) สายตรวจสอบและควบคุม มีหน้าที่ตรวจสอบระบบงาน ข้อมูลและการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ภายในธนาคาร ให้เป็นไปตามกฎระเบียบของทางราชการ และข้อบังคับของธนาคาร รวมทั้งประเมินความเพียงพอ และประสิทธิภาพของระบบการควบคุมภายในของธนาคาร ทั้งนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบ

(2) หน่วยงานกำกับดูแล มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานภายในของธนาคารให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของทางการ ตลอดจนการให้คำแนะนำปรึกษา การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ภายในธนาคาร เพื่อให้มีการกำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติงานที่เหมาะสม

2. ธนาคารจัดให้มีหน่วยงานภายในที่สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และเอื้ออำนวยให้ระบบการจัดการด้านการบริหารความเสี่ยงของธนาคารมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
จรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ
ธนาคารจะส่งเสริมให้กรรมการ พนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องของธนาคาร ปฏิบัติหน้าที่โดยมีจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ ซึ่งมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญ ดังนี้

1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม และความรับผิดชอบ
2. รักษาความลับ และไม่ใช้ข้อมูลภายในหรือข้อมูลอันเป็นความลับ เพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางที่มิชอบ
3. ป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งทางผลประโยชน์
4. ปฏิบัติตนเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ ความชำนาญ และด้วยความระมัดระวังรอบคอบ

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ