นโยบายภาษี

ธนาคารยึดมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีและการบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับภาษี โดยธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นผู้เสียภาษีที่ดี และการชำระภาษีที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนให้การดำเนินธุรกิจของธนาคารเติบโตได้อย่างมั่นคง และสามารถสร้างคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียของธนาคารได้อย่างยั่งยืน

ธนาคารได้กำหนดนโยบายภาษีให้สอดคล้องกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการและกรอบการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ ครอบคลุมถึงการนิยามความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง การดูแลติดตามความเสี่ยง ตลอดจนการบริหารและควบคุมความเสี่ยง โดยหน่วยงานของธนาคารมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของหน่วยงานตนเอง และกำหนดมาตรการบริหารและติดตามควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม และสร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการภายในธนาคาร

คณะกรรมการธนาคารเป็นผู้อนุมัตินโยบายภาษีของธนาคาร โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้สอบทานการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับนโยบายภาษี และคณะกรรมการกำกับความเสี่ยงทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการซึ่งครอบคลุมผลกระทบทางภาษีที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจ

นโยบายภาษีของธนาคาร ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้

  1. การกำกับดูแลด้านภาษี
  2. การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภาษี
  3. ความโปร่งใสด้านภาษี
การกำกับดูแลด้านภาษี
ธนาคารยึดมั่นในการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติตามกฎหมายภาษีและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและประเทศที่ธนาคารเข้าไปดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด มีการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกรอบนโยบายภาษี และมีกระบวนการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายและกระบวนการอนุมัติตามขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

  • ยึดถือและปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายภาษีและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย และประเทศที่ธนาคารเข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยปฏิบัติตามทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเจตนารมณ์ของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม
  • ยึดมั่นและมีความรับผิดชอบในการชำระภาษีให้ถูกต้องในประเทศที่ธนาคารเข้าไปดำเนินกิจการ และสอดคล้องกับธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่แท้จริง และไม่โยกย้ายมูลค่าที่เกิดขึ้นไปยังประเทศที่เสียภาษีในอัตราต่ำ
  • ไม่แสวงหาโอกาสจากโครงสร้างภาษีที่ไม่ปกติเพื่อเป็นการหลบเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance)
  • ไม่มีนโยบายที่จะใช้ประเทศหรือดินแดนที่ไม่เปิดเผยข้อมูล (Tax Haven) ในการหลบเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) แต่อาจใช้ในการประกอบธุรกิจที่มีความสำคัญต่อธนาคารเท่านั้น เช่น การระดมทุน และการบริหารสภาพคล่อง
  • ปฏิบัติตามหลักการราคาของค่าตอบแทนซึ่งคู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันพึงกำหนดโดยสุจริตในทางการค้า (Arm’s Length Principle) ในการกำหนดราคาโอนสำหรับรายการทางธุรกิจระหว่างธนาคารกับกิจการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน และจะไม่ใช้การกำหนดราคาโอนเป็นเครื่องมือสำหรับการวางแผนภาษีที่ไม่เหมาะสม
  • ดำเนินการและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกรอบของกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ การใช้มาตรการลดหย่อนภาษี การตั้งสำรองพึงกันสำหรับหนี้สงสัยจะสูญตามที่รัฐให้การสนับสนุน เป็นต้น
การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภาษี
ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภาษี โดยปฏิบัติตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ธนาคารได้เน้นย้ำให้หน่วยงานของธนาคารตระหนักและมีความเข้าใจในการบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยงด้านภาษี เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายภาษี และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศ และประเทศที่ธนาคารเข้าไปดำเนินธุรกิจ ธนาคารมีหน่วยงานภาษีทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานต่างๆ ของธนาคารในประเด็นเกี่ยวกับภาษี

ธนาคารได้ดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภาษีที่สำคัญดังนี้

  • จัดทำนโยบายภาษีและคู่มือปฏิบัติงานเป็นลายลักษณ์อักษร และดำเนินการปรับปรุงให้ทันสมัยเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษีอากร
  • ประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบ รวมทั้งกำหนดแนวการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับทางด้านภาษี ก่อนดำเนินการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการหรือการดำเนินธุรกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้ ในกรณีมีข้อสงสัย ธนาคารจะขอความเห็นจากหน่วยงานราชการเกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่าธนาคารมีการบริหารจัดการภาษีอย่างรอบคอบ
  • กำหนดกระบวนการในการจัดทำและชำระภาษีให้เป็นไปอย่างถูกต้องตรงเวลา มีการบันทึกบัญชีที่ครบถ้วน มีการสอบทานการคำนวณภาษีอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการจัดเก็บรายงานในรูปแบบที่เหมาะสม และมีการควบคุมการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบในสถานที่ปลอดภัย เพื่อให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัยและเข้าถึงได้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง
  • จัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามกฎหมายภาษี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ และมีการประสานงานกับผู้ตรวจสอบภายในและผู้ตรวจสอบภายนอกในประเด็นความเสี่ยงหรือความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับภาษี
  • รายงานประเด็นภาษีที่มีสาระสำคัญโดยหน่วยงานภาษีอากร ต่อฝ่ายจัดการ และคณะกรรมการธนาคาร ผ่านผู้บริหารสูงสุดของสายงานการบัญชีและการเงิน
ความโปร่งใสด้านภาษี
ธนาคารให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการบริหารจัดการด้านภาษีโดยยึดหลักความถูกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และเพียงพอเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย ดังนี้

  • ธนาคารเปิดเผยนโยบายภาษีต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์ของธนาคาร
  • การเปิดเผยข้อมูลทางด้านภาษีเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในรายงานทางการเงินของธนาคารตามที่มาตรฐานทางการบัญชีกำหนด
  • ธนาคารพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาษีของทางการในประเทศที่ธนาคารเข้าไปดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการจัดทำข้อมูลตามที่หน่วยงานภาษีของทางการร้องขอ เพื่อให้มั่นใจในความโปร่งใสในการดำเนินการด้านภาษีของธนาคาร
ข้อมูลภาษีเงินได้

หน่วย: ล้านบาท

งบรวม

งบเฉพาะธนาคาร

2566

2567

ค่าเฉลี่ย

2566

2567

ค่าเฉลี่ย

กำไรจากการดำเนินงานก่อนภาษีเงินได้

52,046

56,567

-

45,453

51,668

-

ภาษีเงินได้

9,993

10,946

-

7,920

8,631

-

อัตราภาษีที่แท้จริง (%)

19.20%

19.35%

19.28%

17.42%

16.71%

17.04%

เงินสดจ่ายภาษีเงินได้

11,921

13,811

-

9,247

10,872

-

อัตราภาษีที่เป็นเงินสด (%)

22.90%

24.42%

23.69%

20.34%

21.04%

20.72%


  • ค่าเฉลี่ยของอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective tax rate) ของอุตสาหกรรมธนาคารทั่วโลกเท่ากับร้อยละ 21.29 ความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของอัตราภาษีที่แท้จริงของธนาคารกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมธนาคารทั่วโลก โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใต้กฎหมายไทย (ร้อยละ 20) ที่ต่ำกว่าอัตราภาษีของประเทศอื่นโดยเฉลี่ย การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีเงินปันผลภายใต้กฎหมายไทย และมาตรการของภาครัฐที่ให้สิทธินิติบุคคลในการหักรายจ่ายได้เพิ่มเติมจากจำนวนที่จ่ายจริง
  • ส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและอัตราภาษีที่แท้จริงส่วนใหญ่มาจากการที่เงินปันผลรับได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และมาตรการทางภาษีของภาครัฐที่ให้สิทธิในการหักรายจ่ายเพิ่มเติมจากจำนวนที่จ่ายจริง
  • ในปี 2567 ธนาคารไม่ได้รับคำตัดสินทางภาษีที่มีนัยสำคัญใดๆ จากหน่วยงานกำกับดูแลด้านภาษี

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ