นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม

ธนาคารกำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ขึ้นเพื่อแสดงถึงทิศทาง หลักการ และกรอบการดำเนินการของธนาคาร ในการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีแนวปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับกิจการที่ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน

ธนาคารสนับสนุนให้บริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารนำนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ไปปรับใช้ โดยอนุโลมให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของแต่ละบริษัท

ธนาคารมุ่งหวังให้ผู้ที่เกี่ยวข้องของธนาคารมีความเข้าใจ ตระหนักรู้ ยึดมั่น และยอมรับในคุณค่า ตลอดจนปฏิบัติตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ เป็นปกติวิสัย จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร
นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม
ธนาคารมีความมุ่งหมายในการประกอบธุรกิจในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ที่อยู่คู่กับสังคมไทยและตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรให้ตระหนักรู้และปฏิบัติตนให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวม เชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนนำแนวคิดด้านการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมมาปฏิบัติ โดยคำนึงถึงสภาพการณ์ทั้งภายในและภายนอกอย่างเข้าใจ และเชื่อมั่นในคุณค่าอันยั่งยืน ที่ธนาคารและผู้มีส่วนได้เสียจะได้ปฏิบัติร่วมกันอย่างเหมาะสม
แนวปฏิบัติที่พึงดำเนินการ
1. การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม
(1) สนับสนุนและส่งเสริมหลักการให้กิจการมีความสามารถในการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และดำเนินกิจกรรมในลักษณะที่สอดคล้องกับกฎหมาย
(2) ไม่สนับสนุนกิจกรรมหรือพฤติกรรมอันเป็นการขัดขวางมิให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
(3) ให้ความเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สินซึ่งหมายความรวมถึงทั้งทรัพย์สินทางกายภาพและทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธ์ สิทธิบัตร

2. การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่ธนาคารกำหนด

3. การเคารพสิทธิมนุษยชน
(1) ดำเนินกิจการอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และคำนึงถึงผลกระทบที่อาจมีต่อสิทธิของพนักงาน ชุมชน และสังคม
(2) ดูแลมิให้การดำเนินกิจการก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเว้นการร่วมกระทำความผิดอันก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

4. การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม

ดูแลและปฏิบัติต่อแรงงาน โดยคำนึงถึงหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือกฎระเบียบของธนาคาร ตลอดจนหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อความเข้าใจและร่วมกันเสริมสร้างกิจการให้เกิดความมั่นคงและมีความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการให้ความคุ้มครองสังคม ตระหนักถึงสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน

5. ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค

ธนาคารในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน คำนึงถึงสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค 4 ประการ ตามแนวทางหรือหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด คือ
(1) สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการ
(2) สิทธิในการตัดสินใจเลือกใช้บริการ
(3) สิทธิในการแสดงความคิดเห็น การร้องเรียน หรือแจ้งประเด็นการปรับปรุงบริการ
(4) สิทธิที่จะได้รับการชดเชยจากบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน การนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภค

แนวปฏิบัติที่พึงดำเนินการ ได้แก่
(1) นำหลักการเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคมาพิจารณาในขั้นตอนที่จะมีการออกแบบหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินใหม่ รวมทั้งการกำหนดและทบทวนกระบวนการหรือการดำเนินการเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่คำนึงถึงหลักการเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคตามความเหมาะสม
(2) ให้ความสำคัญและดูแลให้มีการสื่อสารอย่างเหมาะสมระหว่างธนาคารและผู้ใช้บริการให้เกิดความเข้าใจที่ดี ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนให้พนักงานและผู้ใช้บริการมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค

6. การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการในกิจกรรมที่ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

7. การร่วมพัฒนาชุมชนหรือสังคม

ส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงการพัฒนาชุมชนและสังคม และจัดกิจกรรมที่ช่วยเหลือสนับสนุนต่อการพัฒนาชุมชนและสังคมตามโอกาสอันควร และจัดสรรทรัพยากรในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและสังคม

8. การมีนวัตกรรมและเผยแพร่นวัตกรรมซึ่งได้จากการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความคิดหรือค้นหาและพัฒนาความรู้ใหม่ๆ รวมถึงการนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติในเชิงธุรกิจ ตลอดจนการบริหารจัดการในการสร้างนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่กิจการหรือก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างเหมาะสม
กลยุทธ์การดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม
ธนาคารตระหนักว่าการดำเนินธุรกิจของธนาคารส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในขณะเดียวกัน ธนาคารก็เข้าใจดีว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตทางธุรกิจของธนาคารในระยะยาว ธนาคารจึงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม สนับสนุนและร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อรับมือกับความท้าทายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันและสามารถปรับตัวรับความท้าทายได้ด้วยตนเอง ตลอดจนสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียมและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืนสืบไป

ธนาคารได้กำหนดกิจกรรมเพื่อสังคม โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ความท้าทายสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและหน่วยงานพันธมิตร ประโยชน์ทางสังคมและธุรกิจ ตลอดจนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร และภาพลักษณ์ของธนาคาร ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมทางสังคมที่ธนาคารสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมจะนำมาซึ่งคุณประโยชน์และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงต่อทั้งชุมชนและสังคม และต่อธนาคารโดยรวมและพนักงานของธนาคารที่เข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ  ทั้งนี้ ธนาคารสื่อสารและสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมของธนาคาร ตามโอกาสที่เหมาะสม ความถนัดและความสนใจ เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมและค้นหาแรงบันดาลใจในการทำงานหรือทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดต่อไป

นอกเหนือจากการส่งเสริมและสืบสานศิลปะและวัฒนธรรมไทยที่ทรงคุณค่า และการทำนุบำรุงศาสนา ซึ่งธนาคารให้ความสำคัญและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ธนาคารได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ในปี 2563-2565 โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรับมือกับความท้าทายสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1. การเข้าสู่สังคมอายุยืน 2. ความเหลื่อมล้ำ และ 3. ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีรายละเอียดของแต่ละประเด็นโดยสังเขป ดังนี้ 

1. การเข้าสู่สังคมอายุยืน
(เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: เป้าหมายที่  1 ขจัดความยากจน)


คนไทยมีอายุยืนมากขึ้นเรื่อยๆ  ในขณะที่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินทั้งระดับบุคคลและครัวเรือน เช่น

  • การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จนเกิดเป็นหนี้สินเกินตัว
  • การออมที่ไม่เพียงพอและขาดการวางแผนเตรียมพร้อมทางการเงินหลังเกษียณ
  • ขีดความสามารถในการสร้างรายได้ของกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีรายได้น้อย

2. ความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ
(เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: เป้าหมายที่  4 การศึกษาที่เท่าเทียม และเป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ)


ภัยคุกคามใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ ซึ่งจะกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ความเหลื่อมล้ำในมิติสำคัญรวมถึง

  • ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและความรู้ทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย
  • ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทักษะความรู้และเงินทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเกษตรกร
  • ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา

3. ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม
(เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: เป้าหมายที่  6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เป้าหมายที่ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล และเป้าหมายที่ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก)


ภาวะโลกร้อน การพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว และการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยไร้ประสิทธิภาพ กำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน และขีดความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ ประเด็นท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญรวมถึง

  • ภัยแล้ง
  • ขยะล้นเมือง รวมทั้งขยะพลาสติก และการจัดการขยะที่ขาดประสิทธิภาพ
  • การตัดไม้ทำลายป่า
  • ปัญหามลพิษ

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ