ศูนย์สังคีตศิลป์

ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ก่อตั้งขึ้นในปี 2522 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมดนตรีนาฏศิลป์และการแสดงพื้นบ้านไทยอย่างยั่งยืน แม้ว่าในปี 2564 ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ มีความจำเป็นต้องงดจัดกิจกรรมหลายอย่างเนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19 แต่ยังมีกิจกรรมสำคัญบางอย่างที่สามารถจัดขึ้นได้ในรูปแบบออนไลน์ ดังนี้

สังคีตสราญรมย์

กิจกรรม “สังคีตสราญรมย์” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ชมศิลปะการแสดงของไทยที่หาชมได้ยาก และเปิดโอกาสให้ศิลปิน คณะนาฏศิลป์ รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ ได้มีเวทีแสดงความสามารถ ในปี 2564 ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จึงได้ปรับการนำเสนอให้เป็นรูปแบบออนไลน์ ผ่านช่องยูทูป ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ โดยมียอดการเข้าชม 360,568 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากปี 2563 และที่สำคัญคือกลุ่มที่เข้าชมรายการ มากที่สุดเป็นกลุ่มอายุ 25-34 ปี ซึ่งโดยปรกติแล้วอาจจะสนใจศิลปะแบบอื่นๆ มากกว่า การนำเสนอศิลปะการแสดงของไทยผ่านช่องยูทูปน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นความสนใจของคนกลุ่มดังกล่าว ส่งผลดีต่อการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยต่อไป

สร้างสรรค์วรรณศิลป์ “กวีปากกาทอง”

โครงการสร้างสรรค์วรรณศิลป์ “กวีปากกาทอง” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเยาวชนระดับอุดมศึกษาให้สืบสานการประพันธ์บทร้อยกรอง ตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทย และเข้าใจถึงฉันทลักษณ์คำประพันธ์ร้อยกรองแต่ละประเภท ได้แก่ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ กับมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมีคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นประธานโครงการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ได้แก่ รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร รศ.ดร. สุปาณี พัดทอง คุณกนกวลี พจนปกรณ์ พร้อมทั้งศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรต์ เช่น คุณไพวรินทร์ ขาวงาม คุณศักดิสิริ มีสมสืบ คุณเรวัตร์ พันธ์พิพัฒน์ ดร. อภิชาติ ดำดี ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ในปี 2564 ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ได้จัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ให้แก่นักศึกษาจาก 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี แม้ว่าบรรยากาศการจัดกิจกรรมจะแตกต่างไปจากเดิมที่เคยจัดในห้องประชุม แต่เนื้อหาที่วิทยาการนำเสนอยังคงมีความเข้มข้นเช่นเดิม ในการประกวดผลงานแต่ละครั้ง มีนักศึกษาส่งบทร้อยกรองรวมกว่า 300 ชิ้น ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กของศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ทำให้มีจำนวนผู้ติดตามเฟซบุ๊กดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาก โดยส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจกิจกรรม “กวีปากกาทอง”

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ