การกำกับดูแลกิจการ

ความมุ่งมั่น


การปลูกฝังธรรมาภิบาลที่ดีสอดคล้องกับกฎหมายในประเทศและมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และสร้างสรรค์คุณค่าให้แก่ลูกค้าและสังคมอย่างยั่งยืน

ความสำคัญ

การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียและสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ธนาคารมุ่งมั่นปฏิบัติตามกฎหมาย หลักการและแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีควบคู่กับการส่งเสริมวัฒนธรรมด้านธรรมาภิบาลที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กร โดยการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีแก่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ทั้งนี้เพื่อให้ธนาคารได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสีย สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง มีผลประกอบการที่ดีและสร้างคุณค่าต่อสังคม

การบริหารจัดการ

ด้วยเชื่อมั่นว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ธนาคารจึงกำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการ พร้อมทั้งแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมายและหลักการด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเป็นกรอบการปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้อง นโยบายการกำกับดูแลกิจการระบุหลักการสำคัญเกี่ยวกับ

  1. การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย
  2. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
  3. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
  4. การควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง
  5. จรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ

คณะกรรมการธนาคารได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการทำหน้าที่กำหนดและทบทวนนโยบายและแนวทางปฏิบัติดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไปและสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของทางการ พร้อมทั้งให้คณะกรรมการฯ ทำหน้าที่ดูแลและติดตามให้มีการปฏิบัติตามหลักการด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายขององค์กร

การส่งเสริมความหลากหลายของคณะกรรมการธนาคาร

เพื่อให้คณะกรรมการธนาคารประกอบด้วยกรรมการที่มีความหลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้คณะกรรมการมีมุมมองที่แตกต่าง กว้างขวาง และครอบคลุมทุกมิติที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร อันนำมาซึ่งการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิผลและผลประกอบการที่ดี ธนาคารได้จัดทำนโยบายความหลากหลายของคณะกรรมการเพื่อเป็นหลักการพิจารณาสรรหาและคัดเลือกกรรมการธนาคาร โดยกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนพิจารณาคุณสมบัติของกรรมการธนาคาร โดยคำนึงถึงความหลากหลายในด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะ ความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ การศึกษา เพศ อายุ และวัฒนธรรม ตลอดจนมีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของโครงสร้าง ขนาด และความหลากหลายของคณะกรรมการธนาคารเป็นระยะ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป

การเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านธรรมาภิบาลที่ดี
ธนาคารส่งเสริมและสนับสนุนให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมีความเข้าใจในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอดจนนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการของธนาคาร เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามได้อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร ธนาคารสนับสนุนให้กรรมการและผู้บริหารเข้ารับการอบรมหรือเข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ และสนับสนุนให้ผู้บริหารและพนักงานเรียนรู้เพิ่มเติมจากหลักสูตรต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมความเข้าใจในการปฏิบัติงานภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เช่น หลักสูตรการต่อต้านคอร์รัปชัน หลักสูตรการป้องกันการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงหลักสูตรจรรยาบรรณธุรกิจ หลักสูตรการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม หลักสูตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น เพื่อร่วมกันสร้างวัฒนธรรมด้านธรรมาภิบาลที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กร ความมุ่งมั่นที่่ธนาคารมีต่อการพัฒนาการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นได้จากการได้รับผลการสำรวจตามโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2565 โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในระดับ “ดีเลิศ”
การจ่ายค่าตอบแทนกรรมการบริหารและผู้บริหารระดับสูง
การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคาร

คณะกรรมการธนาคารได้ประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเป็นประจำทุกปี เพื่อให้คณะกรรมการธนาคารได้มีการทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ในรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น และนำผลการประเมินที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของคณะกรรมการธนาคาร การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคาร มี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. การประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเอง (Self-Assessment) ของคณะกรรมการธนาคารทั้งคณะและกรรมการรายบุคคล 2. การประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการท่านอื่น โดยใช้วิธีประเมินแบบไขว้ (Cross-Assessment) โดยการประเมินทั้ง 2 วิธี ใช้แบบการประเมินที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการธนาคาร

หัวข้อหลักในแบบประเมินตนเองของคณะกรรมการธนาคารแบบรายคณะ ประกอบด้วย 1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการ 2. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ 3. การประชุมคณะกรรมการ 4. การทำหน้าที่ของกรรมการ 5. ความสัมพันธ์กับฝ่ายจัดการ 6. การพัฒนาตนเองของกรรมการและการพัฒนาผู้บริหาร

หัวข้อหลักในแบบประเมินตนเองของกรรมการแบบรายบุคคล ประกอบด้วย 1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการ 2. การประชุมคณะกรรมการ 3. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของกรรมการ

หัวข้อหลักในการประเมินกรรมการร่วมคณะแบบไขว้ ประกอบด้วย 1. ความสม่ำเสมอในการเข้าร่วมประชุม 2. การเตรียมตัวเข้าประชุม 3. การแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม 4. การให้ความร่วมมือ 5. การเป็นตัวแทนในการแสดงภาพลักษณ์ของธนาคารต่อบุคคลภายนอก

สำหรับกระบวนการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคาร เลขานุการบริษัทเป็นผู้จัดส่งแบบประเมินทั้ง 3 ชุดดังกล่าวให้แก่กรรมการเพื่อประเมิน และรวบรวมแบบประเมินจากกรรมการ เพื่อนำส่งให้แก่คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนเป็นผู้ประมวลและสรุปผลการประเมิน เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการธนาคาร

การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุดย่อย

ในปี 2565 คณะกรรมการชุดย่อยทุกชุดได้ประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง เพื่อทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองในรอบปีที่ผ่านมา ตามขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธนาคาร และนำผลการประเมินไปเป็นแนวทางนำไปปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองต่อไป

การประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุดย่อย ใช้วิธีการประเมินตนเองแบบรายคณะ โดยใช้แบบการประเมินที่จัดทำขึ้นตามกรอบหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะ และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการธนาคาร ทั้งนี้เลขานุการของคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะ เป็นผู้นำเสนอแบบประเมินตนเองให้กรรมการในคณะกรรมการชุดย่อยจัดทำการประเมิน และเป็นผู้รวบรวมแบบประเมิน ประมวล และสรุปผลการประเมิน นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อทราบ ทั้งนี้คณะกรรมการชุดย่อยได้รายงานผลการประเมินดังกล่าวให้ คณะกรรมการธนาคารทราบ

การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

ธนาคารจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยคณะกรรมการธนาคารเป็นผู้ประเมิน โดยใช้แบบประเมินที่จัดทำขึ้นตามแนวทางของแบบประเมิน CEO ที่เผยแพร่โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการธนาคาร หัวข้อหลักในการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เช่น ความเป็นผู้นำ การกำหนดกลยุทธ์ การปฏิบัติตามกลยุทธ์ การวางแผนและผลปฏิบัติทางการเงิน ความสัมพันธ์กับคณะกรรมการ เป็นต้น ทั้งนี้ประธานคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน จะเป็นผู้แจ้งผลการประเมินให้ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ทราบ

ค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูง

คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนเป็นผู้รับผิดชอบการพิจารณาและนำเสนอค่าตอบแทนที่เหมาะสมของผู้บริหาร รวมถึงประธานกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ขึ้นไป เพื่อให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาให้ความเห็นชอบและกำหนดค่าตอบแทนตามนโยบายของธนาคาร

การกำหนดค่าตอบแทนเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคารทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และสะท้อนผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารแต่ละคน ประกอบด้วยตัวชี้วัดด้านการเงิน ด้านลูกค้า ด้านการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงาน และด้านการพัฒนาบุคลากร เช่น อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ การเติบโตของรายได้ การเติบโตของสินเชื่อ คุณภาพของสินทรัพย์ ความพึงพอใจของลูกค้า การบริหารค่าใช้จ่าย ตลอดจนตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของธนาคารเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินและบริษัทชั้นนำอื่น ๆ ในประเทศไทย เช่น ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นโดยรวม เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ภายใต้เจตนารมณ์ของการเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน”

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ