การให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง

ความมุ่งมั่น


การส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรวมถึงผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ผู้พิการ และเอสเอ็มอี ควบคู่กับให้ความรู้ทางการเงินและทักษะความรู้ที่จำเป็นเพื่อพัฒนาขีดความสามารถพร้อมกับการเข้าถึงบริการทางการเงิน

ความสำคัญ


ธนาคารเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและการมีความรู้ทางการเงินอย่างเพียงพอจะช่วยสร้างผลกระทบทางบวกในเชิงเศรษฐกิจและสังคม สร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่บุคคลและครัวเรือน สร้างโอกาสใหม่ให้แก่ธุรกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และเมื่อเศรษฐกิจเติบโตได้ดี ธุรกิจของธนาคารก็จะเติบโตตาม อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าของธนาคารด้วย ด้วยเหตุนี้ ธนาคารจึงมุ่งมั่นส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง โดยให้ความสำคัญกับการขยายบริการทางการเงินให้มีความครอบคลุมมากขึ้น พร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายใหญ่ หรือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ นอกจากนี้ ธนาคารยังคงมุ่งมั่นให้ปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงินให้แก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไปทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธนาคารให้ดูแลการดำเนินงานด้านการให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง
แนวทางการดำเนินงาน
ธนาคารให้ความสำคัญกับ
  1. การส่งเสริมการออมและการช่วยลดภาระหนี้เกินตัว โดยการให้ความรู้ทางการเงินที่เกี่ยวข้องแก่กลุ่มเปราะบาง
  2. การขยายโอกาสทางการเงินให้แก่กลุ่มเปราะบาง โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการบนพื้นฐานของความต้องการ ความชอบ และข้อเสนอแนะของกลุ่มดังกล่าว และการให้ความรู้ทางการเงินในรูปแบบที่สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้โดยง่าย
  3. การนำแนวปฏิบัติด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบมาใช้เพื่อป้องกันการก่อหนี้เกินตัวซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการยึดถือแนวปฏิบัติด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับขายและการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า
  4. การสร้างรากฐานที่แข็งแรงสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่กลุ่มเอสเอ็มอีและเกษตรกร รวมทั้งการสนับสนุนในรูปแบบที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ความรู้และทักษะด้านอื่น ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงทางการเงินในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนความร่วมมือและการดำเนินงานร่วมกับองค์กรภายนอกเกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้แก่พนักงานเพื่อให้เข้าใจแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ และการให้ปริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม
การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่ลูกค้าบุคคล
การพัฒนาช่องทางบริการ

  • บริการตัวแทนธนาคาร

    ธนาคารขยายบริการตัวแทนธนาคารอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ทุกเวลา ไม่ว่าลูกค้าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือในชุมชนนอกเขตเมือง หรือไม่สะดวกไปใช้บริการที่สาขาธนาคารในช่วงเวลาทำการ หรือยังไม่สามารถเข้าถึงบริการในช่องทางดิจิทัลและช่องทางอัตโนมัติของธนาคาร ในปัจจุบัน ตัวแทนธนาคารประกอบด้วย เซเว่น อีเลฟเว่น โลตัส ไปรษณีย์ไทย ตู้บุญเติม ทรู มันนี่ เอไอเอส เคอรี่ เอ็กซ์เพรส บิ๊กซี ตู้เติมสบายพลัส สบาย เคาน์เตอร์ และตู้เติมดี ทำให้มีจุดบริการกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกจังหวัด ณ สิ้นปี 2566 มีจุดบริการตัวแทนธนาคารรวมทั้งสิ้น 204,020 แห่ง และมีการทำธุรกรรมผ่านตัวแทนธนาคารกว่า 9.3 ล้านรายการ


  • บัวหลวงเอทีเอ็มและบริการธนาคารอัตโนมัติ

    เครื่องบัวหลวงเอทีเอ็มให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด กระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ สะดวก ปลอดภัย รองรับบัตรทุกธนาคาร และแสดงข้อมูลได้หลากหลายภาษา ธนาคารยังได้พัฒนาฟังก์ชันพิเศษสำหรับการถอนเงินสดของผู้พิการทางสายตา ผ่านการทำรายการในโหมดสำหรับผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ ซึ่งมีความสะดวกปลอดภัยและตอบโจทย์ความต้องการใช้เงินสดในชีวิตประจำวันของกลุ่มผู้พิการทางสายตา ในปี 2566 ธนาคารได้ให้บริการเครื่องบัวหลวงเอทีเอ็มที่รองรับโหมดการทำรายการสำหรับผู้พิการทางสายตารวมทั้งสิ้น 6,588 เครื่อง นอกจากนี้ ธนาคารยังให้บริการบัวหลวงโฟน (1333) ธนาคารอัตโนมัติทางโทรศัพท์ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการสอบถามข้อมูล โอนเงิน ชำระค่าบริการ เติมเงินมือถือ สั่งซื้อสมุดเช็ค สอบถามยอดและชำระบัตรเครดิต ใช้บริการกองทุน และบริการอื่น ๆ ได้ด้วยตนเองหรือผ่านเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์

  • โมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ และบัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง

    ธนาคารมุ่งมั่นพัฒนาแอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบทุกโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้พิการทางสายตา พร้อมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีสะสมทรัพย์ e-Savings เช็คยอดเงิน โอน ถอน เติมเงิน จ่ายบิล บริหารการลงทุน การสมัครและเปิดใช้งานบัตรเดบิต หรือการยืนยันตัวตนโดยไม่ต้องไปที่สาขา ธนาคารได้ยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการใช้งานฟีเจอร์ใหม่ ๆ ในอนาคต

    ก่อนการออกบริการโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ ธนาคารได้มีการทำวิจัยตลาดในกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้พิการทางสายตา โดยธนาคารได้เชิญตัวแทนจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยร่วมทดสอบการใช้งานโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ เพื่อรับฟังเสียงจากผู้ใช้งานจริง และนำข้อมูล ความคิดเห็นไปปรับปรุงการให้บริการ ซึ่งจากการทดสอบพบว่าผู้พิการทางสายตาสามารถใช้บริการได้อย่างราบรื่น เช่น การเรียกดูยอดเงินคงเหลือ รายการเคลื่อนไหวของบัญชี การโอนเงิน เติมเงิน และจ่ายบิล เป็นต้น บริการโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับกลุ่มเปราะบาง ช่วยส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตาให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

    นอกจากนี้ ธนาคารยังให้บริการบัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง ผ่านทางคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต เพื่อให้ลูกค้าสามารถจัดการเรื่องการเงินได้อย่างง่ายดาย สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ได้ทุกที่ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งการโอนเงิน จ่ายเงิน เช็คยอดและรายการเคลื่อนไหวในบัญชี ชำระค่าสินค้าและบริการ และบริหารกองทุน ณ สิ้นปี 2566 มีผู้ใช้บริการโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ และบัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง รวมกว่า 13.4 ล้านราย


การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ

  • บัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ e-Savings

    ธนาคารส่งเสริมการออมและการเข้าถึงบริการเงินฝากอย่างทั่วถึง โดยการให้บริการบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ e-Savings ผ่านการเปิดบัญชีออนไลน์แบบง่าย ๆ ด้วยตนเอง ทุกที่ทุกเวลา ด้วยโมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ ไม่มีค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชี ไม่กำหนดยอดเงินฝากขั้นต่ำในการเปิดบัญชี ยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมข้ามเขต และสามารถทำธุรกรรมได้ทั้งผ่านช่องทางดิจิทัลและสาขาโดยไม่ต้องมีสมุดบัญชีคู่ฝาก ลูกค้าใหม่สามารถยืนยันตัวตนได้ผ่านแอพลิเคชันธนาคารอื่นภายใต้โครงการ National Digital ID (NDID) หรือผ่าน Mobile ID หรือผ่านจุดบริการ Be My ID ที่สาขาธนาคารและบริการตัวแทนธนาคารซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ

  • บริการ Cross-Border QR Payment

    ธนาคารให้บริการรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศสำหรับลูกค้าบุคคล โดยการแสกนจ่ายด้วยคิวอาร์โค้ดผ่านโมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการซื้อสินค้าและบริการในต่างประเทศ ในขณะเดียวกันร้านค้าไทยก็สามารถรับเงินผ่าน PromptPay QR จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้โดยสะดวกปลอดภัย ไม่มีค่าธรรมเนียม และสามารถทราบอัตราแลกเปลี่ยนทันทีขณะทำรายการ พร้อมได้รับ e-Slip เพื่อยืนยันการทำรายการเมื่อทำรายการชำระเงินสำเร็จ ณ ปัจจุบัน ธนาคารได้เปิดให้บริการดังกล่าวแล้วในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา และฮ่องกง ช่วยเพิ่มความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และแรงงานข้ามชาติ ลดความจำเป็นในการถือเงินสดสกุลต่างประเทศ ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ร้านค้ารายย่อยเป็นจำนวนมาก

  • บัญชีเงินฝากพื้นฐานสำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

    ธนาคารส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้บริการทางการเงินแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยการให้บริการบัญชีเงินฝากขั้นพื้นฐานแก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนโครงการสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป บัญชีเงินฝากพื้นฐานมีคุณลักษณะพิเศษ คือ การไม่กำหนดยอดเงินฝากขั้นต่ำในการเปิดบัญชี การยกเว้นค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี และการยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีของบัตรเดบิตที่ผูกไว้กับบัญชีเงินฝากพื้นฐาน ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการเข้าถึงและใช้บริการบัญชีเงินฝากของกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มคนรายได้น้อย และกลุ่มผู้สูงอายุ ณ สิ้นปี 2566 มีผู้ใช้บริการบัญชีเงินฝากพื้นฐาน รวมกว่า 37,813 บัญชี และมียอดการทำธุรกรรมมากกว่า 3,093,805 ธุรกรรม

  • บัญชีเงินฝากสินมัธยะทรัพย์ทวี – บัวหลวงคิดส์

    ธนาคารให้บริการบัญชีเงินฝากสินมัธยะทรัพย์ทวี-บัวหลวงคิดส์ สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ผู้ปกครองโดยชอบธรรมตามกฎหมายสามารถขอเปิดบัญชีดังกล่าวได้ที่สาขาของธนาคาร โดยบัญชีดังกล่าวมีเงื่อนไขพิเศษคือ หากฝากเงินเป็นประจำ จำนวนเท่ากันทุกเดือน เป็นเวลา 2 ปี (ขั้นต่ำเดือนละ 500 บาท) จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากดอกเบี้ย ธนาคารหวังว่าบัญชีเงินฝากสินมัธยะทรัพย์ทวี-บัวหลวงคิดส์จะเป็นเครื่องมือที่ผู้ปกครองนำไปใช้ในการสร้างวินัยการออมของบุตรซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินในอนาคต ในปี 2566 มีผู้ใช้บริการบัญชีเงินฝากสินมัธยะทรัพย์ทวี-บัวหลวงคิดส์ รวมกว่า 18,667 บัญชี และมีจำนวนธุรกรรมรวมกว่า 95,637 ครั้ง

  • สินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักประกัน

    ธนาคารตอบโจทย์การเข้าถึงสินเชื่อของมนุษย์เงินเดือนหรือผู้ที่พึ่งเริ่มต้นทำงาน โดยให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับพนักงานประจำที่มีบัญชีเงินเดือนกับธนาคารกรุงเทพและมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร ในวงเงินสูงสุด 3-5 เท่าของรายได้ต่อเดือน หรือสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน สินเชื่อดังกล่าวมี 2 รูปแบบ ได้แก่ สินเชื่อบัวหลวงสุขใจ (สินเชื่อเงินกู้เอนกประสงค์) ผ่อนชำระเท่ากันทุกงวด ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี ธนาคารโอนเงินกู้เข้าบัญชีเงินเดือนโดยอัตโนมัติ และสินเชื่อบัวหลวงอุ่นใจ (สินเชื่อหมุนเวียน) วงเงินสำรองพร้อมใช้ยามฉุกเฉินและช่วยเสริมสภาพคล่อง เบิกถอนด้วยบัตร Be 1st ผ่อนชำระเพียง 5% ของยอดคงค้าง ณ สิ้นปี 2566 มีผู้ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อทั้งสองรูปแบบรวมแล้วกว่า 2,921 ราย วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้นกว่า 240 ล้านบาท

  • สินเชื่อข้าราชการบำนาญ

    ธนาคารช่วยสานต่อทุกความฝันของข้าราชการที่เกษียณอายุแล้วให้เป็นจริง โดยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้แก่กลุ่มข้าราชการบำนาญที่เกษียณอายุและลูกจ้างผู้รับบำเหน็จรายเดือน ซึ่งมีรายรับไม่มากหรือไม่แน่นอนเท่าตอนก่อนเกษียณ ผ่านบริการสินเชื่อข้าราชการบำนาญ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันเงินกู้เพียงแต่ใช้หนังสือรับรองสิทธิบำเหน็จตกทอดเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่มีค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินยอดบำเหน็จตกทอด ระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 30 ปี ในปี 2566 มีผู้ได้รับสินเชื่อดังกล่าว 9,559 ราย รวมวงเงินสินเชื่อกว่า 1,648.57 ล้านบาท


การปฏิบัติต่อกลุ่มเปราะบางเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน

ธนาคารให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการให้บริการลูกค้ากลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) กลุ่มผู้ที่มีความรู้ทางการเงินอย่างจำกัดหรือยังไม่มีประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์และบริการ และกลุ่มผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการมองเห็น ธนาคารได้กำหนดแนวปฏิบัติในการให้บริการลูกค้ากลุ่มเปราะบางเป็นการเฉพาะ รวมถึงจัดอบรมให้แก่พนักงานเพื่อป้องกันการขายเชิงรุก การบังคับขาย และการไม่เคารพต่อลูกค้ากลุ่มนี้ การเสนอขายผลิตภัณฑ์และให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ พนักงานต้องทำความรู้จักลูกค้าเพื่อให้ทราบถึงความประสงค์ ความสามารถทางการเงิน และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของลูกค้า การอธิบายรายละเอียด ความเสี่ยง เงื่อนไข สิทธิ และข้อยกเว้นต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์และบริการ ต้องคำนึงถึงความารถในการทำความเข้าใจของลูกค้า เน้นย้ำในจุดที่สำคัญ และต้องมีความชัดเจนและเข้าใจง่าย หากลูกค้ามีข้อสงสัย ให้พนักงานอธิบายจนมั่นใจว่าลูกค้าปราศจากข้อสงสัย ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญและเพียงพอต่อการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล นอกจากนี้ พนักงานต้องให้เวลาแก่ลูกค้ากลุ่มเปราะบางในการทำความเข้าใจและต้องไม่เร่งรัดให้ลูกค้าตัดสินใจ
การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่เอสเอ็มอีและเกษตรกร
  • สินเชื่อหลากหลายรูปแบบเพื่อเอสเอ็มอี

    ธนาคารเชื่อมั่นในศักยภาพของเอสเอ็มอีไทยมาโดยตลอด และพร้อมสนับสนุนเงินทุนและส่งเสริมทักษะความรู้ต่าง ๆ แก่เอสเอ็มอีเพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของเอสเอ็มอี เช่น สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อบัวหลวงเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ สินเชื่อบัวหลวงกรีน สินเชื่อบัวหลวงกรีนโซลาร์เอเนอร์จี้ สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน ตลอดจนสินเชื่อบัวหลวงเพิ่มทรัพย์ (เงินกู้) และสินเชื่อบัวหลวงพูนทรัพย์ (สินเชื่อหมุนเวียน) สำหรับเอสเอ็มอีที่มีรายการค้าผ่านธนาคาร

  • โครงการเกษตรก้าวหน้าและการสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรและธุรกิจเกษตร

    เกษตรกรและธุรกิจเกษตรขนาดกลางและขนาดย่อมมักมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในขณะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลิตภาพการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม การตลาด หรือกระทั่งการจัดการด้านพลังงานเพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดก๊าซเรือนกระจก ธนาคารได้ส่งเสริมความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพแก่เกษตรกรและธุรกิจเกษตรผ่านการดำเนินโครงการเกษตรก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจเกษตรที่มีศักยภาพ รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อบัวหลวงกรีนแก่เกษตรกรเพื่อส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการประหยัดพลังงานหรือการใช้พลังงานทดแทน เช่น การติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา และการปรับปรุงหรือติดตั้งเครื่องจักรที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรหรือลดการปล่อยมลพิษ ณ สิ้นปี 2566 ธนาคารมียอดคงค้างสินเชื่อธุรกิจเกษตรทั้งสิ้นกว่า 216,963 ล้านบาท

  • โครงการ CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า

    ธนาคารร่วมกับกลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ให้การสนับสนุนสินเชื่อหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่คู่ค้าของซีพีเอฟ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ผ่านบริการ Supplier Payment and Finance เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแห่ลงเงินทุนได้ง่าย ช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ สินเชื่อดังกล่าวให้วงเงินสูง อนุมัติเร็ว ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถเบิกใช้วงเงินได้ง่าย ชำระคืนได้ทุกวัน และสามารถตรวจสอบวงเงินสินเชื่อผ่านทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ณ สิ้นปี 2566 มีคู่ค้าใช้บริการรวม 164 ราย และมียอดวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 273 ล้านบาท
การให้ความรู้ทางการเงินแก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไป
  • การให้ความรู้ทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์

    ธนาคารให้ความรู้ทางการเงินแก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไป ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ผ่านการนำเสนอเกร็ดความรู้และการติวเข้มเรื่องการเงินกับ “Money Tutor” เพื่อสร้างองค์ความรู้และปูทางสู่ความมั่นคงทางการเงิน โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจหลากหลาย เช่น การวางแผนทางการเงิน การออมและการลงทุน การวางแผนเกษียณ การหลอกลวงและภัยทางการเงินออนไลน์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ความรู้ดังกล่าวเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ธนาคาร โมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ ไลน์ออฟฟิเชียล เฟซบุ๊กเพจ Bangkok Bank เพจการเงินมั่นคงกับครอบครัวบัวหลวง หรือบทความและหนังสือเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตาผ่านแอปพลิเคชัน Read for The Blind นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนการทำกิจกรรมให้ความรู้ทางการเงินภายในองค์กรและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ผ่านการสนับสนุนด้านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์และตรงความต้องการของแต่ละหน่วยงาน

  • โครงการ 2S (Saving and Service)

    ธนาคารมุ่งมั่นส่งเสริมความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน ไปจนถึงวัยเกษียณ ผ่านการดำเนินโครงการ 2S (Saving and Service) ซึ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน และการแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ในปี 2566 ธนาคารส่งเสริมให้พนักงานธนาคารจัดกิจกรรมแบ่งปันความรู้ทางการเงินพร้อมกับสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน ตลอดจนผู้ปกครองและครู ภายใต้โครงการ 2S for kids พนักงานได้ช่วยกันแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการการเงินขั้นพื้นฐานทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ให้แก่โรงเรียน 68 โรง มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 7,589 คน ทั้งนี้ ผลพลอยได้จากการจัดกิจกรรมดังกล่าวคือ มีนักเรียน ผู้ปกครอง และครู จำนวนไม่น้อยที่สนใจสมัครผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของธนาคาร เช่น โมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ และบัญชีเงินฝาก e-Saving

  • โครงการ The Stock Master @ University

    ธนาคารร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เดินหน้าจัดโครงการ The Stock Master @ University ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อสร้างเสริมความรู้ด้านการเงินและการลงทุนให้กับนักศึกษา รวมทั้งต่อยอดไปสู่การสร้างนักลงทุนที่มีคุณภาพ ผู้ร่วมโครงการจะได้รับความรู้ทั้งด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลและด้านการลงทุน ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และได้ทดลองซื้อขายหลักทรัพย์แบบจำลองผ่านระบบ Click2Win ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2566 มีการจัดกิจกรรมทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ โดยมีนักศึกษาเข้าร่วม 2,595 คน จาก 6 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โครงการดังกล่าวยังมีการแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ของธนาคารพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาสมัครผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ของธนาคารได้

  • โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM

    ธนาคารเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 โดยมีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางที่เชื่อมโยงลูกหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้ทุกราย โครงการดังกล่าวช่วยลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (ค้างชำระนานกว่า 120 วัน และมูลค่าหนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท) ให้สามารถแก้ปัญหาหนี้พร้อมกับได้เรียนรู้วิธีการวางแผนและสร้างวินัยทางการเงินอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจรในที่เดียว เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืนในระดับประเทศต่อไป ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน มีลูกหนี้ของธนาคารเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้รวมทั้งสิ้น 4,359 ราย เฉพาะลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการในปี 2566 มี 1,570 ราย

  • โครงการปลดล็อกหนี้ เกษียณมีสุข

    ธนาคารร่วมกับบริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด (โนบูโร) บริษัทเพื่อสังคมที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาหนี้สินและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ดำเนินโครงการ “ปลดล็อกหนี้ เกษียณมีสุข” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเงินส่วนบุคคลให้แก่พนักงานบริษัท พร้อมแนะนำการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสม บ่มเพาะนิสัยการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล ปลดล็อคภาระหนี้ที่เกินตัวรวมถึงหนี้นอกระบบ และต่อยอดไปสู่การสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต ธนาคารและโนบูโร ได้รับความไว้วางใจจากบริษัท ขาวละออเภสัช จำกัด และบริษัท เอ.ไอ. เทคโนโลยี จำกัด ให้เข้าไปดำเนินโครงการกับพนักงานที่มีปัญหาหนี้สินรวมทั้งสิ้น 111 คน โดยมีผู้ที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อโนบูโรจากการทำภารกิจพิชิตหนี้รวม 65 คน ซึ่งคิดเป็นจำนวนยอดหนี้ที่ปิดได้รวม 3,653,633 บาท ธนาคารจะติดตามผลลัพธ์ของการทำภารกิจพิชิตหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างจริงจังและยั่งยืน และความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงานอื่น ๆ ที่มีปัญหาหนี้สินเกินตัวลุกขึ้นมาสู้และเอาชนะปัญหาด้วยกัน นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ทางการเงินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงได้ขยายโครงการ “เกษียณมีสุข” ไปสู่กลุ่มผู้พิการทางสายตา โดยจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการออมควบคู่กับการจัดการหนี้แก่กลุ่มผู้พิการทางสายตาของสหกรณ์บริการคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “การวางแผนด้านการเงิน เพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย การบริหารหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ” มีผู้พิการทางสายตาเข้าร่วมอบรมทั้งในสถานที่จริงและทางออนไลน์ทั้งสิ้น 100 คน

  • AEC CONNECT

    ธนาคารได้จัดตั้ง AEC CONNECT ขึ้น เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ให้คำแนะนำด้านการค้าและการลงทุนแก่ผู้ที่สนใจดำเนินธุรกิจในตลาดอาเซียน ตามแนวคิด “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่เออีซี” AEC CONNECT ได้จัดงานอบรมสัมมนาเกี่ยวกับการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดทำหลักสูตรผู้นำธุรกิจแห่งอาเซียน (AEC Business Leader) ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการแบบเจาะลึกสำหรับธุรกิจไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ต้องการเตรียมความพร้อมสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจในประเทศสมาชิกอาเซียน ในปี 2566 AEC CONNECT ยังคงมอบสาระความรู้ด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ผ่านเว็บไซต์ธนาคารและช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของ AEC Connect เช่น เฟซบุ๊กแฟนเพจ, ยูทูป, Blockdit และ Line Official AEC CONNECT ได้จัดการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงจากธุรกิจชั้นนำในรายการ AEC TAKE-OFF เผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กและยูทูป รวม 4 ครั้ง มีผู้รับชมรวมกว่า 167,000 ครั้ง อีกทั้งยังจัดกิจกรรม AEC Investment Clinic และสัมมนากลุ่มย่อยหลากหลายหัวข้อ อาทิ “เจาะโอกาสทองธุรกิจในกัมพูชายุคผลัดใบ”, “ธุรกิจที่น่าสนใจในเมียนมาสำหรับนักลงทุนไทย ท่ามกลางความท้าทาย” และ “เกาะติด สปป.ลาว ฝ่ามรสุม กู้ความเชื่อมั่น”

    ในปี 2566 ธนาคารได้จัดงานสัมมนาใหญ่ประจำปี “AEC Business Forum 2023” ภายใต้ชื่อ ASEAN Rising: Capture New Growth โดยได้รับเกียรติจากคุณหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด บรรยายพิเศษเกี่ยวกับศักยภาพ ทิศทาง และโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดอาเซียน อีกทั้งยังมีผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำเข้าร่วมการเสวนาอย่างคับคั่ง อาทิ คุณเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ดร.ทรงพล ดีจงกิจ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ตัวแทนจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และ ดร.โรเบิร์ต แย็ป ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วายซีเอช กรุ๊ป ตัวแทนจากอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ คุณจอห์น เรียดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท PT. Lippo Karawaci Tbk คุณโยฮัน นีเวน ประธาน บริษัท Ho Chi Minh City Securities Corporation และคุณก๊วก เมง เวย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท K2 Strategic Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ก๊วก กรุ๊ป

  • Bangkok Bank SME เพื่อนคู่คิดเอสเอ็มอี

    ธนาคารส่งเสริมความรู้ในทุกมิติที่จำเป็นสำหรับเอสเอ็มอี ผ่านเครือข่ายการเรียนรู้ทางออนไลน์ Bangkok Bank SME บนเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูป อินสตราแกรม อีกทั้งยังสามารถรับฟังผ่านทาง Spotify, SoundCloud และ Podbean เครือข่ายดังกล่าวเผยแพร่ข่าวสารความรู้ต่าง ๆ ในรูปแบบของบทความ (เช่น SME Series ที่นำเสนอเป็นประจำ เรื่อง Mega Trends & Business Transformation, Family Business และ ESG) บทวิเคราะห์ คลิปวีดีโอถ่ายทอดประสบการณ์ของลูกค้าที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนการจัดกิจกรรมสัมมนาแบบออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากนี้ Bangkok Bank SME ยังผลิตและเผยแพร่รายการต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น รายการ SME Clinic Exclusive, SME Successor, Creative SME, Fininvest, Fininsight, SME The Master Talk, The Treasury Talk และเพื่อนคู่คิด
ช่องทางรับข้อร้องเรียน


เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ