‘อินโดนีเซีย’ โอกาสทางการค้าและการลงทุน
อินโดนีเซีย มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และใหญ่เป็นอันดับ 16 ของโลก สินค้าส่งออกสำคัญ คือ น้ำมันดิบ ปาล์มน้ำมัน ถ่านหิน ยางพารา และเมล็ดโกโก้ เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.3% รายได้ประชากรต่อหัว 3,492 ดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 3.7% ต่อปี
อินโดนีเซีย เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทย มีประชากร 251 ล้านคน สกุลเงินที่ใช้ คือ รูเปียห์
อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดใน AEC และยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีแรงงานในวัยหนุ่มสาว อีกทั้งตลาดผู้บริโภคมีศักยภาพสูง
ธนาคารกรุงเทพ
ในปี 2563 ธนาคารกรุงเทพได้รับโอนกรรมสิทธิ์การถือหุ้นในธนาคารเพอร์มาตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำและเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแบงก์กิ้งและระบบเทคโนโลยีการชำระเงินในประเทศอินโดนีเชีย โดยธนาคารกรุงเทพได้ทำการควบรวมสาขาของธนาคารในประเทศอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตา จนกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกในประเทศอินโดนีเชีย ปัจจุบันธนาคารมีสาขากว่า 250 แห่งในอินโดนีเซีย พร้อมให้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย
โอกาส
อินโดนีเซีย ได้เปรียบจากการมีที่ดินที่อุดมสมบูรณ์มากมาย สร้างโอกาสอย่างมากในการทำธุรกิจภาคการเกษตรให้กับนักลงทุนต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เช่น การปลูกและแปรรูปมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และยางพารา ด้านอุตสาหกรรมการผลิตหลักของอินโดนีเซีย ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องจักรกลและการขนส่ง เคมีภัณฑ์และสิ่งทอ
อินโดนีเซีย มีประชากรประมาณ 250 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งใน AEC อีกทั้งยังมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนที่ศึกษาตลาดก่อนเข้ามาลงทุน เช่น ชาวอินโดนีเซีย ชื่นชอบขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มของไทย
รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ได้ออกนโยบายที่เอื้อต่อการทำธุรกิจหลายด้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อส่งเสริมระบบไมโครไฟแนนซ์ และพัฒนาเศรษฐกิจระดับรากหญ้า
ความท้าทาย
เนื่องจากระบบกฎหมายและกฎระเบียบที่ซับซ้อนของอินโดนีเซีย เช่น นักลงทุนต่างชาติไม่มีกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน (Freehold) มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้านภาษีอากรหลายประการ อีกทั้งยังมีข้อกำหนดด้านการว่าจ้างแรงงานท้องถิ่นที่เคร่งครัด จึงเป็นความท้าทายสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติในการหาแนวทางการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
ข้อแนะนำการลงทุนและทำธุรกิจ
ถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการทำธุรกิจ แต่ภาษาประจำชาติบาฮาซา สามารถเรียนรู้ได้ไม่ยาก หาก
นักลงทุนศึกษาเพิ่มเติมจะเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
บริษัทต่างชาติควรจะใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นกับหุ้นส่วนท้องถิ่นก่อนที่จะเริ่มการเจรจาต่อรองทางธุรกิจ
ปรึกษาและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
คุณนิฎฐพงษ์ เสนะวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป สาขาจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
โทรศัพท์: (62) 21 231 1008
อีเมล: bbl.jk@bangkokbank.com
หมายเหตุ: ข้อมูลจัดทำ ณ ตุลาคม 2560