คำถามที่พบบ่อย

รู้ไว้ก่อนขอสินเชื่อ
  • สินเชื่อบ้านบัวหลวงคืออะไร
    สินเชื่อบ้านบัวหลวงคือ สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม รวมไปถึงที่ดินเปล่าเพื่ออยู่อาศัย หรือเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย รวมทั้งเพื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่น

  • ธนาคารจะให้กู้จำนวนเท่าไรของราคาหลักทรัพย์ที่ประเมินได้ 
    ถ้าเป็นการกู้เพื่อซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม หรือเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย โดยทั่วไปธนาคารจะพิจารณาวงเงินกู้ประมาณร้อยละ 70-100 ของราคาประเมิน

  • ธนาคารกรุงเทพมีทางเลือกวิธีการผ่อนชำระคืนสินเชื่อหรือไม่ 
    ธนาคารกรุงเทพมีข้อเสนอการผ่อนชำระรายเดือน 2 รูปแบบ คือ 
    • ผ่อนชำระรายเดือนแบบขั้นบันได โดยปรับยอดผ่อนใน 1-3 ปีแรก คือ ผู้กู้จะผ่อนชำระรายเดือนน้อย ตามอัตราดอกเบี้ยต่ำและคงที่ในช่วงแรกของสัญญากู้ และปรับยอดผ่อนชำระสูงขึ้นเล็กน้อยในช่วงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
    • ผ่อนชำระรายเดือนแบบคงที่ คือ ผู้กู้จะผ่อนชำระคืนเป็นจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละเดือนตลอดเวลาของสัญญากู้

  • จะติดต่อขอกู้ได้ที่ไหน 
    ติดต่อสาขาของธนาคารกรุงเทพที่คุณสะดวก หรือสามารถกรอกข้อมูลส่วนตัวในแบบฟอร์มออนไลน์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ

  • ขอทราบขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร และระยะเวลาในการพิจารณา 
    เมื่อคุณยื่นเรื่องขอสินเชื่อที่สาขาธนาคาร พร้อมแนบเอกสารประกอบการขอสินเชื่ออย่างครบถ้วน สาขาจะพิจารณาส่งใบคำขอและเอกสารประกอบไปที่ศูนย์สินเชื่ออุปโภคบริโภค พร้อมกับส่งเอกสารหลักประกันไปที่ส่วนหลักประกัน ส่วนหลักประกันจะนัดวันประเมิน และส่งผลกลับมาที่ศูนย์สินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งจะพิจารณาสินเชื่อ หลังจากนั้นทางศูนย์สินเชื่ออุปโภคบริโภคจะแจ้งผลการพิจารณาให้คุณทราบผ่านทางสาขา โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3-10 วันทำการ

  • ธนาคารมีหลักเกณฑ์ในการประเมินราคาอย่างไร ใช้ราคาประเมินตามสำนักงานที่ดินหรือไม่ 
    หลักเกณฑ์ในการประเมินราคาขึ้นอยู่กับราคาประเมินกรมที่ดิน ราคาตลาด และสภาพคล่องของหลักประกัน
     
  • หากเป็นการขอสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินจัดสรร หรือที่ดินของตัวเอง ธนาคารจะพิจารณาการให้สินเชื่ออย่างไร และผู้ขอกู้จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง
    กรณีปลูกสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินจัดสรร ธนาคารจะพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อ ได้สูงสุดร้อยละ 90 ของราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้กู้ต้องจัดเตรียมเอกสารประกอบการขอสินเชื่อ เช่น แบบแปลนบ้าน (พิมพ์เขียว) ใบอนุญาตปลูกสร้าง สัญญาว่าจ้างระบุงวดงาน
เงื่อนไขการขอสินเชื่อ
  • ธนาคารมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการพิจารณาวงเงินกู้ 
    หลักเกณฑ์การพิจารณาวงเงินกู้ ธนาคารจะพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการกู้ตามลักษณะที่อยู่อาศัย และความสามารถในการผ่อนชำระคืน โดยพิจารณาจากอาชีพ รายได้ และจากมูลค่าหลักประกัน เช่น
    • ลักษณะที่อยู่อาศัย กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เช่น ที่ดินเปล่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม หรือเพื่อปลูกสร้าง หรือ รีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัย
    • คุณสมบัติผู้กู้ เป็นบุคคลธรรมดามีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป มีรายได้ประจำ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว
    • ไม่มีประวัติเสียหายด้านการเงิน
    • วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 90 ของราคาประเมินหลักทรัพย์
    • ระยะเวลาผ่อนชำระต่ำสุด 5 ปี สูงสุด 30 ปี (เฉพาะพนักงานประจำผ่อนนานสูงสุด 35 ปี)
    • ทั้งนี้อายุของผู้กู้รวมระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 65 ปี
       
  • หากมีรายได้ประจำที่ไม่เพียงพอในการผ่อนชำระสินเชื่อ จะขอกู้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านได้หรือไม่ 
    ได้ หากคุณมีผู้กู้ร่วมที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร

  • ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขอสินเชื่อหรือไม่ จำนวนเท่าใด 
    ค่าใช้จ่ายที่คุณต้องเตรียม มีดังต่อไปนี้
    • ค่าประเมินหลักประกัน ขั้นต่ำ 3,000 บาท (ไม่รวม VAT) ยกเว้น ค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ ทั้งนี้ อัตราค่าบริการขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด และจำนวนของหลักประกัน อ้างอิงตามประกาศธนาคารในเว็บไซต์ หรือประกาศ ณ สาขา
    • ค่าปรับกรณีไถ่ถอนจำนองไปใช้บริการกับสถาบันการเงินอื่นก่อน 3 ปี คิดอัตราร้อยละ 3 ของภาระหนี้คงเหลือ 
    • ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย
    • ค่าเบี้ยประกันคุ้มครองเครดิตโฮมเฟิสต์ (ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้กู้)

  • ต้องการซื้อบ้านแต่ไม่มีโฉนดที่ดินมีแต่เอกสารสิทธิประเภทอื่นๆ เช่น น.ส.3 สามารถขอกู้กับธนาคารได้หรือไม่ 
    ได้ หากเอกสารสิทธิ์นั้นแสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันสินเชื่อ และ น.ส. 3 ถือเป็นเอกสารสิทธิ์ประเภทหนึ่ง
การขอกู้ร่วม
  • มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการกู้ร่วมอย่างไร 
    การกู้ร่วมนั้นผู้กู้ร่วมต้องมีความสัมพันธ์สายตรงกับผู้ขอกู้ เช่น เป็นสามีภรรยา พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือบิดามารดากู้ร่วมกับบุตร ธนาคารไม่จำกัดจำนวนผู้กู้ร่วม โดยผู้กู้ร่วมต้องถือกรรมสิทธิ์ในหลักทรัพย์ร่วมกันทุกคน

  • กรณีที่ดินที่ถือครองมีผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันมากกว่า 1 คน แต่มีเพียงบุคคลเดียวที่ต้องการขอกู้เงินกับธนาคาร เพื่อสร้างบ้านบนที่ดินแปลงดังกล่าว และต้องการที่จะขอกู้และมีกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวทำได้หรือไม่ ถ้าได้จะต้องทำอย่างไรบ้าง 
    ได้ ทำได้โดยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างให้เป็นของผู้กู้คนเดียวก่อน แล้วจึงขอกู้ภายหลัง

  • กู้ร่วมกับแฟนที่ยังไม่ได้แต่งงานหรือแต่งงานแล้วแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสได้หรือไม่ 
    กรณีเป็นแฟนยังไม่แต่งงานกันไม่สามารถกู้ร่วมได้ ส่วนในกรณีที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสามารถกู้ได้โดยแสดงหลักฐานอื่นๆ เช่น ถ้ามีบุตรให้แสดงใบเกิดที่ระบุชื่อพ่อแม่ หรือทะเบียนบ้านที่แสดงว่าปัจจุบันอยู่ด้วยกัน 
อัตราดอกเบี้ย
  • อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีกี่ประเภท
    ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่มีข้อเสนออัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ
    • อัตราดอกเบี้ยช่วง Teaser หมายถึง อัตราดอกเบี้ยพิเศษที่เสนอให้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งประมาณ 1-3 ปี ซึ่งอาจจะเสนอในรูปของอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรืออัตราดอกเบี้ยที่อิงอัตราลอยตัว MRR
    • อัตราดอกเบี้ยหลังจากช่วง Teaser โดยปกติธนาคารส่วนใหญ่จะกำหนดตามอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดีหรือ MRR (Minimum Retail Rate) ซึ่งแต่ละธนาคารอาจจะกำหนดไว้แตกต่างกัน อัตราดอกเบี้ยลอยตัวนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทางการเงิน เช่น สภาพคล่องในระบบการเงิน ต้นทุนทางการเงินของแต่ละธนาคาร และภาวะการแข่งขันในตลาด

  • การเลือกอัตราดอกเบี้ย ควรพิจารณาเลือกอย่างไร
    อัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ต่ำที่สุดในช่วงปีแรก อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป เพราะหลังสิ้นสุดช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงแรก อัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นโดยอิงตามอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MRR ซึ่งอัตราดอกเบี้ย MRR ปรับขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง คุณควรเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี เนื่องจากคุณต้องผ่อนชำระกับธนาคารไปอย่างน้อย 3 ปี จึงจะสามารถไถ่ถอนรีไฟแนนซ์ โดยไม่มีค่าเบี้ยปรับ
การชำระเงินกู้
  • อยากทราบว่าจะสามารถชำระเงินค่างวดรายเดือนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคารได้กี่วิธี 
    คุณสามารถชำระเงินกู้ได้หลายวิธี โดยชำระได้ที่สาขาธนาคารหรือโดยการหักจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์หรือกระแสรายวัน ซึ่งคุณสามารถกำหนดวันชำระเงินได้ด้วยตนเอง

  • ในกรณีชำระโดยหักบัญชีจากธนาคาร เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระ หากลืมนำเงินเข้าบัญชีก่อนครบกำหนด จะแก้ไขอย่างไรได้บ้างเพื่อไม่ให้เป็นการชำระผิดนัด 
    ควรนำเงินเข้าบัญชีในวันถัดไป และควรโทรแจ้งสาขาที่คุณใช้บริการสินเชื่ออยู่

  • หากจะขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต่างๆ ในสัญญาเงินกู้ เช่น การขอขยายเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อ หรือการเปลี่ยนแปลงผู้กู้ จะต้องดำเนินการอย่างไร 
    กรณีขอขยายเวลาการผ่อนชำระขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารตามสถานะของลูกหนี้แต่ละราย ในกรณีที่ได้ทำนิติกรรมสัญญากู้ยืมและจำนองเป็นการค้ำประกันสินเชื่อแล้ว ผู้กู้สามารถขยายระยะเวลาการผ่อนชำระได้ โดยติดต่อสาขาเพื่อยื่นคำร้องในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้กู้ จะต้องดำเนินการดังนี้
    • กรอกคำขอสินเชื่อใหม่ พร้อมยื่นเอกสารประกอบการขอกู้
    • ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ (กรณีหลักทรัพย์เดิมประเมินไว้เกิน 1 ปี) เนื่องจากต้องเซ็นสัญญาและจดจำนองใหม่
รีไฟแนนซ์
  • จะขอกู้เพื่อรีไฟแนนซ์เพื่อไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่นได้หรือไม่
    ขอกู้เพื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่นได้ ตามปกติธนาคารจะให้กู้เท่ากับ 100% ของภาระหนี้คงเหลือ ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถขอรับวงเงินสินเชื่ออเนกประสงค์เพิ่มเติมได้ ทั้งในรูปแบบเงินกู้หรือแบบโอดี  
  • กรณีการไถ่ถอนจำนองมาจากสถาบันการเงินอื่น (รีไฟแนนซ์) ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ จำนวนเท่าใด
    กรณีรีไฟแนนซ์และไถ่ถอนจำนองสินเชื่อบ้านจากสถาบันการเงินอื่น คุณควรคำนึงถึงค่าธรรมเนียมที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายจาก 3 ส่วน ดังนี้
    • ธนาคารใหม่: ค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ 3,000 บาท (ไม่รวม VAT), ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ (สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท)
    • ธนาคารเดิม: ค่าเบี้ยปรับกรณีรีไฟแนนซ์และไถ่ถอนก่อนกำหนด 3 ปี (3% ของภาระหนี้คงเหลือ)
    • ค่าใช้จ่ายสำนักงานที่ดิน: ค่าธรรมเนียมการจำนอง 1% ของวงเงินกู้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท (ยกเว้นการจดทะเบียนจำนองห้องชุดไม่จำกัดค่าธรรมเนียมสูงสุด)
  • ในกรณีไถ่ถอนจำนองมาจากสถาบันการเงินอื่น จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง
    คุณต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม คือ สัญญาเงินกู้ของสถาบันการเงินเดิม ใบเสร็จรับเงินย้อนหลัง 6 เดือนและสัญญาจำนอง 
คำถามอื่นๆ
  • ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนองที่สำนักงานที่ดินเป็นจำนวนเท่าได ใครเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 
    ผู้กู้จะต้องรับผิดชอบชำระค่าธรรมเนียมในการจดจำนองที่สำนักงานที่ดิน ในอัตราร้อยละ 1 ของมูลจำนอง

  • หลักฐานอะไรบ้างที่จะต้องเตรียมเพื่อใช้ประกอบการจดทะเบียนจำนอง 
    การจดทะเบียน ลูกค้าต้องเตรียม
    • บัตรประจำตัวประชาขน
    • ทะเบียนบ้าน
    • ทะเบียนสมรส ใบหย่า ใบมรณบัตร 
    • ใบยินยอมคู่สมรสให้ทำนิติกรรม
    • โฉนดที่ดินตัวจริง
    • ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)

  • ขั้นตอนและการเตรียมเอกสารสำหรับการไถ่ถอนหลักประกัน
    • กรณีชำระเสร็จสิ้น: สามารถติดต่อยื่นคำขอไถ่ถอนได้ทุกสาขา โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 15 วัน
    • กรณีมีภาระหนี้คงค้าง: ติดต่อยื่นคำขอไถ่ถอน ณ สาขาเจ้าของบัญชีสินเชื่อ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 25 วัน
      • กรณีชำระด้วย C/O จ่าย “บมจ.ธนาคารกรุงเทพ” จำนวนเงินเท่ากับภาระหนี้ในวันนัดไถ่ถอน (สอบถามก่อนที่สาขาเจ้าของบัญชีสินเชื่อ)
      • กรณีไถ่ถอนก่อนกำหนด 3 ปี (รีไฟแนนซ์) เพิ่มค่าธรรมเนียมการชำระคืนต้นเงินกู้ก่อนกำหนด 3% ของภาระหนี้คงค้าง
  • เอกสารที่ลูกค้าต้องเตรียม
    • บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา
    • ทะเบียนบ้านตัวจริงและสำเนา
    • ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)

  • การแจ้งการเปลี่ยนที่อยู่ติดต่อจะต้องทำอย่างไรบ้าง
    คุณสามารถยื่นคำร้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่อยู่ได้ที่ธนาคารกรุงเทพสาขาที่ใช้บริการสินเชื่อ

  • นิติบุคคลสามารถขอกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือสินเชื่อบุคคลได้หรือไม่ 
    ไม่ได้ แต่สามารถขอกู้สินเชื่อธุรกิจหรือสินเชื่อเพื่อ SMEs ซึ่งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกู้ที่แตกต่างไปจากการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

  • กรณีต้องการกู้เงินเพื่อซื้อที่ดินเปล่า มีข้อกำหนดอย่างไร
    การขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินเปล่า จะต้องเป็นที่ดินที่ซื้อเพื่อปลูกบ้านเท่านั้น และควรอยู่ในทำเลที่เหมาะสม โดยมีขนาดที่ดินต้องไม่เกิน 2 ไร่ และไม่สามารถขอกู้เพื่อซื้อที่ดินซึ่งอยู่ห่างไกลและทิ้งไว้เฉยๆ

  • ต้องการซื้อบ้านจากบุคคลอื่นซึ่งติดภาระจำนองอยู่กับธนาคารอื่น จะขอกู้กับธนาคารกรุงเทพจะต้องทำอย่างไร 
    ต้องเตรียมเอกสารประกอบการพิจารณา ได้แก่ สัญญาจะซื้อจะขาย สำเนาโฉนดด้านหน้าและหลังที่ระบุชื่อเจ้าของเดิมเพื่อตรวจสอบว่ามีประวัติถูกฟ้องร้องหรือไม่ หากได้รับการอนุมัติจากธนาคารแล้ว ต้องนัดหมายไถ่ถอนจากธนาคารเดิม และนัดหมายประสานงานกันทั้งผู้ซื้อ/ผู้ขาย และธนาคารทั้ง 2 แห่ง เพื่อไถ่ถอนและจดจำนองใหม่พร้อมกันในวันเดียวกัน (การไถ่ถอนจากธนาคารอื่นเป็นหน้าที่ของผู้ขายที่จะติดต่อกับธนาคารนั้นๆ เอง)

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ