รวมวิธีป้องกันมิจฉาชีพ ไม่โดนหลอกโอนเงิน ป้องกันเงินหายจากบัญชี
“ไม่โอน” คือวิธีที่จะป้องกันมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ดีที่สุด เนื่องจากการตามเงินคืนจากมิจฉาชีพและการดำเนินการทางกฎหมายนั้นใช้เวลานาน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการไม่รีบโอนเงินไปให้ผู้ที่เราไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ หรือบุคคลที่เพิ่งรู้จัก คิดไว้เสมอว่า “ตั้งสติก่อนโอนสตางค์ เพราะเมื่อเงินออกจากบัญชีเราแล้ว จะกลายเป็นเงินของคนอื่น”
ธนาคารกรุงเทพจึงขอแนะนำวิธีตรวจสอบเบื้องต้นและข้อควรระวังต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางของเหล่ามิจฉาชีพและคอลเซ็นเตอร์ดังนี้
ข้อควรระวัง:
- “อย่าเชื่อ” มิจฉาชีพมักอ้างเรื่องร้ายแรง เรื่องผิดกฎหมายหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคคลใกล้ตัวมาหว่านล้อมและเร่งให้เราโอนเงินในทันที เราควรมี “สติ” และตรวจสอบความถูกต้องจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โดยไม่จำเป็นต้องรีบร้อน
- “อย่าคุย” งดให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินกับบุคคลที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ โดยเฉพาะบุคคลที่ติดต่อเข้ามาทางโทรศัพท์ หรือทักมาบอกว่าเป็นคนรู้จักทางช่องทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ แนะนำให้ตรวจสอบผ่านช่องทางอื่นร่วมด้วยเสมอ เช่น ติดต่อเจ้าตัวผ่านโทรศัพท์ หรือวิดีโอคอล
- “อย่าโอน” ให้แก่บุคคลที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ หรือหากเป็นกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องโอนหรือจ่ายเงินไปก่อน โดยเฉพาะที่แจ้งว่าโอนแล้วจะได้กำไรกลับมาภายหลัง ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ
รูปแบบมิจฉาชีพที่พบเจอบ่อย
- หลอกลวงให้โอนเงิน: มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่บริษัทโทรเครือข่ายมือถือ ตำรวจ หรือหน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ โทรมาแจ้งว่าบัญชีของคุณมีปัญหา หรือคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย และหลอกลวงให้คุณโอนเงินไปยังบัญชีที่มิจฉาชีพเตรียมไว้ หากอ้างเป็นหน่วยงานและให้โอนเงินโดยบัญชีปลายทางเป็นชื่อบุคคล “ห้ามโอนเด็ดขาด"
- หลอกลวงให้กู้เงิน: มิจฉาชีพจะติดต่อมาเสนอสินเชื่อหรือเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่น่าสนใจ หรืออนุมัติเงินกู้ให้โดยง่าย แต่จะขอค่าดำเนินการล่วงหน้าผ่านการโอนเงิน
- หลอกขายสินค้า: มิจฉาชีพจะสร้างเว็บไซต์ปลอมหรือโพสต์ขายสินค้าราคาถูกเกินจริงในสื่อสังคมออนไลน์ แต่เมื่อโอนเงินไปแล้วจะไม่ได้รับสินค้า หรือหลอกให้ชำระค่าสินค้าปลายทาง
- หลอกให้กดลิงก์: มิจฉาชีพจะส่งอีเมลหรือข้อความที่มีลิงก์ที่น่าสนใจมาให้ เมื่อกดลิงก์นั้น โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ของคุณอาจติดไวรัส หรือโดนแอปฯ อื่นควบคุมโทรศัพท์มือถือของคุณ หรือข้อมูลส่วนตัวของคุณอาจถูกขโมยไป
- หลอกให้ลงทุน: มิจฉาชีพจะเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริงจากการลงทุนในโครงการต่าง ๆ เช่น คริปโตเคอร์เรนซี หรือหุ้น เมื่อคุณลงทุนเงินไปแล้ว จะไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ หรือหลอกให้โอนค่าดำเนินการไปก่อนแล้วจึงจะถอนได้
- หลอกลวงให้สมัครงาน: มิจฉาชีพจะโพสต์ประกาศรับสมัครงานที่ดีเกินจริงในสื่อสังคมออนไลน์ หรือเว็บไซต์หางาน เมื่อคุณติดต่อกลับไป มิจฉาชีพจะขอให้คุณชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าสมัครงาน หรือค่าชุดยูนิฟอร์ม
- แฮ็กบัญชี: มิจฉาชีพอาจแฮ็กบัญชีโซเชียลมีเดียและสวมรอยเป็นคุณ เพื่อขอยืมเงินคนรู้จัก
เทคนิคการป้องกันตนเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
- ป้องกันมิจฉาชีพทางโทรศัพท์:
- ไม่รับสาย/ไม่คุยกับหมายเลขปลายทางที่ไม่รู้จัก
- ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินแก่บุคคลอื่น
- ตรวจสอบข้อมูลก่อนทำธุรกรรม ไม่โอนไปยังบัญชีที่ไม่รู้จักชื่อ
- ป้องกันมิจฉาชีพออนไลน์:
- หลีกเลี่ยงการกดลิงก์จากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จัก หรือน่าสงสัย
- ไม่ดาวน์โหลดไฟล์และแอปพลิเคชันจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
- ใช้รหัสผ่านที่คาดเดายาก เช่น ใช้ตัวอักษรผสมกัน ทั้งพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก ตัวเลข อักขระ ไม่ใช้รหัสผ่านซ้ำกันในแต่ละบัญชี และไม่บันทึกรหัสผ่านไว้ในโทรศัพท์มือถือ
- ล็อกการโอน / เติม / จ่ายผ่านแอปธนาคาร ด้วย “Lock & Unlock” ผ่านโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ และสามารถปลดล็อกด้วยการยืนยันตัวตนผ่านการสแกนใบหน้า ป้องกันไม่ให้สามารถโอน / เติม / จ่ายเงิน ออกจากบัญชีที่คุณล็อกไว้ได้
- จำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น กำหนดวงเงินขั้นต่ำสำหรับสแกนใบหน้าก่อนทำธุรกรรม โดยกำหนดได้ตั้งแต่ 5,000 บาท - 50,000 บาท
- สำหรับผู้ใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตธนาคารกรุงเทพ อย่าลืมกำหนดวงเงินต่อวันหรือต่อรายการ เพื่อจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
- ตั้งค่าการแจ้งเตือนด้านความปลอดภัยด้วยตนเอง เช่น แจ้งเตือนเมื่อ Mobile PIN ถูกระงับ แจ้งเตือนเมื่อมีการเปลี่ยน Mobile PIN ฯลฯ ผ่านแอปพลิเคชันและอีเมล
- โปรดระวังการหลอกให้สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อรับเงิน เพราะการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) เป็นการสแกนเพื่อ “จ่าย” หรือ “โอนเงินออก” เท่านั้น
- ป้องกันมิจฉาชีพแอบอ้าง:
- ตรวจสอบข้อมูลก่อนทำธุรกรรม
- ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
- ไม่เชื่อข้อมูลที่ได้รับทางโทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดียทั้งหมด
วิธีตรวจสอบว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่
- ตรวจสอบชื่อผ่าน Google: นำชื่อคนขาย หรือชื่อของเจ้าของบัญชีไปค้นหาบน Google หากเป็นชื่อมิจฉาชีพจะมีรายละเอียดเตือนภัย
- เช็กผ่านเว็บไซต์ ‘Blacklistseller’: มีการระบุข้อมูลของมิจฉาชีพอย่างละเอียด ชื่อบัญชีมิจฉาชีพ รายชื่อมิจฉาชีพ รวมถึงสามารถเช็กเลขบัญชีของมิจฉาชีพได้ด้วย ตั้งแต่ขั้นตอนซื้อขายจนไปถึงขั้นตอนโอนเงิน
- เช็กผ่านเว็บไซต์ ‘ฉลาดโอน’: สามารถตรวจสอบข้อมูล ชื่อบัญชีเลขบัญชี /เบอร์โทร / ข้อความ sms ของผู้รับโอน ว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งข้อมูลคนโกงเพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นตกเป็นเหยื่อได้ หรือถ้าถูกโกงก็สามารถแจ้งผ่านทางเว็บไซต์ให้ทีมงานช่วยรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีได้เช่นกัน และมีระบบยืนยันตัวตนผู้ขายที่สามารถแสดงบัตรที่ได้จากฉลาดโอนต่อผู้ซื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือว่าผู้ขายมีตัวตนจริง
- เช็กผ่านเว็บไซต์ ‘เช็กก่อน’: เว็บไซต์ช่องทางใหม่ สามารถตรวจสอบเบอร์โทร เลขบัญชี พร้อมเพย์ เพื่อเช็กว่าบัญชีที่เราโอนเงินไปเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ โดยการกรอกข้อมูลบัญชีธนาคาร เบอร์พร้อมเพย์ หมายเลขโทรศัพท์ หรือ URL เว็บไซต์ที่ต้องการจะตรวจสอบก่อนโอน และสามารถแจ้งเบาะแสคนโกง เพื่อป้องกันไม่ผู้อื่นตกเป็นเหยื่อได้
- เช็กคนโกงจากเบอร์โทรศัพท์: เช็กคนโกงจากเบอร์โทรศัพท์ด้วยแอปพลิเคชัน ช่วยให้ตรวจสอบคนโกงได้อย่างง่าย ๆ ในเบื้องต้นเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอก
- Whoscall – ตรวจสอบเบอร์โทรและข้อความ SMS แจ้งเตือนมิจฉาชีพ
- Truecaller – ตรวจสอบแหล่งที่มาของคนโทร โดยเฉพาะจากต่างประเทศ
(แหล่งที่มา: กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง)
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ถึงแม้มิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะพูดเรื่องที่ชวนเชื่อ หรือชวนทำกิจกรรมที่ได้ผลตอบแทนสูงขนาดไหน การไม่โอนเงินไปยังบุคคลที่ไม่รู้จัก ไม่คุยหรือบอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินของตนเองให้ใครทราบ และไม่เชื่อข้อเสนอหรือเหตุการณ์ที่ดูเกินจริง จะเป็นหนทางป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพได้ดีที่สุด หากประสบปัญหาเกี่ยวกับมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ติดต่อธนาคารกรุงเทพได้ที่เบอร์ 1333 หรือ 0 2645 5555 กด *3 ตลอด 24 ชั่วโมง