เจอโปรแรง เช็กให้ดีก่อนโอน! เตือนภัยมิจฉาชีพเพจปลอมที่พัก พร้อมจุดสังเกตและวิธีรับมือ
ใครที่กำลังมองหาหรือต้องการจองที่พักเพื่อเที่ยวพักผ่อนในวันหยุด โดยเฉพาะการจองผ่านเพจเฟซบุ๊กของที่พัก ควรเช็กให้ดีก่อน เพราะมิจฉาชีพอาจแฝงตัวมาในรูปแบบเพจที่พักปลอม ซึ่งส่วนใหญ่พบเจอจากการยิงโฆษณาโปรโมชันที่พักราคาถูกบนโซเชียลมีเดีย ทำให้หลายคนรีบกดเข้าไปและโอนเงินจองห้องพักเลย จนอาจมองข้ามการยืนยันตัวตนเพจว่าเป็นเพจจริงหรือไม่
ธนาคารกรุงเทพขอแนะนำจุดสังเกตและวิธีรับมือเหล่าเพจปลอมที่พัก ดังนี้
จุดสังเกตเพจปลอมที่พัก
- ราคาที่พักถูกเกินจริง หรือข้อเสนอดูดีเกินไป: นี่เป็นหลุมพรางหลักที่จะทำให้เรารีบโอนเงินจองห้องพักจนลืมตรวจสอบเพจที่พักให้ถี่ถ้วน แนะนำให้เปรียบเทียบกับราคาในเว็บไซต์จองที่พักที่เชื่อถือได้อย่าง Booking.com หรือ Agoda เพื่อดูราคาโดยประมาณ ก่อนตัดสินใจ
- ชื่อที่พัก ชื่อเพจ สะกดผิด: มิจฉาชีพมักใช้อักขระพิเศษ หรือตั้งชื่อให้ดูคล้ายเพจจริงแบบเนียนๆ เช่น ใช้ตัว i พิมพ์ใหญ่ แทนตัว l พิมพ์เล็ก
- ดูประวัติการเปลี่ยนชื่อเพจ: สังเกตที่แท็บ “เกี่ยวกับ” (About) จากนั้นไปที่ “ความโปร่งใสของเพจ” (Page Transparency) หากมีประวัติเปลี่ยนชื่อเพจมาจากเพจที่ไม่น่าเชื่อถือ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ
- ไม่มีการกล่าวถึงในเพจ: สังเกตแท็บ “Mentions” ที่หน้าเพจ หากเป็นมิจฉาชีพ แท็บนี้จะถูกปิดไว้ ไม่เปิดให้มีการกล่าวถึงเพจ
- ยอด Like หรือยอดผู้ติดตาม (Follower) เพจน้อยผิดปกติ: เช่น หลักพัน หรือหมื่นต้นๆ
- ไม่มีการรีวิวใดๆ ในเพจเลย: หรือมีรีวิวน้อย มีชื่อคนรีวิวแปลกๆ และเป็นรีวิวที่ดูแล้วน่าสงสัย เนื้อหาในการรีวิวอ่านแล้วดูไม่ธรรมชาติ
- พบ Reaction ในทางลบเป็นส่วนใหญ่: สังเกตโพสต์ในเพจ หากเป็นเพจปลอมที่พักอาจมีผู้เสียหายมากดรูปหน้าโกรธเป็นจำนวนมากในหลายๆ โพสต์ โดยมิจฉาชีพไม่สามารถลบการแสดงความรู้สึก (Reaction) บนโพสต์ได้
- ช่องทางการชำระเงินไม่น่าเชื่อถือ: ก่อนโอนเงินจอง ให้ดูชื่อบัญชีที่โอนว่าตรงกับชื่อเจ้าของที่พัก หรือเป็นบัญชีชื่อของที่พักนั้นหรือไม่ หากไม่ตรงให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ
วิธีรับมือกับเพจปลอมที่พัก
-
ระมัดระวังประกาศโฆษณาที่พักราคาถูก โปรโมชันที่ดูเกินจริง หรือที่พักที่อ้างว่าหลุดจอง ต้องรีบโอนจองด่วน
- หากต้องการเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กที่พัก ให้พิมพ์ชื่อที่พักลงในช่องค้นหาด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่ และเพจใดคือเพจจริง
- ตรวจสอบเลขที่บัญชีและชื่อบัญชีอีกครั้งก่อนโอนเงิน โดยโทรสอบถามกับทางที่พักก่อนโอนเงินจอง ใช้เบอร์ที่ค้นหาเจอจาก Google Map หรือแหล่งที่เชื่อถือได้ ว่าเพจที่พัก ราคา และเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่
- หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีที่รับโอนควรเป็นบัญชีชื่อที่พัก หรือบัญชีชื่อบริษัท
ตรวจสอบหมายเลขบัญชีทุกครั้ง ว่ามีประวัติการหลอกลวงหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, blacklistseller.com หรือ chaladohn.com เป็นต้น
- หากรู้ตัวว่าถูกหลอกหลังโอนเงินไปแล้ว แจ้งศูนย์ AOC 1441 เพื่ออายัดบัญชีคนร้ายและดำเนินคดีตามกฎหมาย
ที่มา:
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
วิธีที่แนะนำในการจองที่พักให้ได้ที่พักจริง คือการสำรองที่พักผ่านช่องทางที่เป็นทางการหรือผ่านเว็บไซต์ของที่พักโดยตรง หรือผ่านผู้ให้บริการสำรองที่พักออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ เช่น Booking.com, Agoda, Traveloka, Trip.com และอย่าลืมตรวจสอบชื่อบัญชีผู้รับโอนให้ถูกต้อง เท่านี้เราก็จะเที่ยวได้อย่างสบายใจ ได้ที่พักแน่นอน นอกจากนี้ยังมีมิจฉาชีพรูปแบบอื่นๆ ที่ควรระวังอีกมากมาย เข้าไปอ่านได้ที่ “รวมวิธีป้องกันมิจฉาชีพ ไม่โดนหลอกโอนเงิน ป้องกันเงินหายจากบัญชี” เลย