การแสดงความรับผิดชอบและสร้างคุณค่าต่อสังคม

ความมุ่งมั่น


การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม การสนับสนุนชุมชนให้จัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการสนับสนุนคู่ค้าให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ความสำคัญ


การดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการแสดงความรับผิดชอบและสร้างคุณค่าต่อสังคมนั้น นอกจากจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธนาคารได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสียด้วย ธนาคารมุ่งมั่นสร้างคุณค่าต่อสังคมผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นกิจกรรมของธนาคารเองและเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกับคู่ค้าหรือพันธมิตร โดยมุ่งหวังให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม จนถึงศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ในปี 2566 ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายสำคัญ 3 ด้านอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเข้าสู่สังคมอายุยืน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธนาคารสืบสานกิจกรรมเดิมพร้อมทั้งริเริ่มกิจกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ โดยมุ่งหวังว่ากิจกรรมเหล่านี้จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ไม่มากก็น้อย
การบริหารจัดการ
ธนาคารกำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อเป็นหลักการและกรอบการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนและสังคมของธนาคาร พร้อมทั้งสนับสนุนให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละบริษัท ธนาคารมอบหมายให้ฝ่ายการประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ดูแลการจัดกิจกรรมพัฒนาสังคมของธนาคาร รวมทั้งมีหน้าที่กำหนดทรัพยากรและงบประมาณที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานอื่น ๆ ก็สามารถริเริ่มกิจกรรมพัฒนาสังคมของตนเองได้ตามที่เห็นสมควรเช่นกัน โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของแต่ละกิจกรรมจะเป็นผู้จัดการและติดตามดูแลการดำเนินกิจกรรมนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ ธนาคารสนับสนุนและเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนร่วมเป็นจิตอาสาในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ ของธนาคารตามความถนัดและความสนใจของพนักงาน
การดำเนินงานที่สำคัญ
การแสดงความรับผิดชอบและสร้างคุณค่าต่อสังคมผ่านการดำเนินงานของธนาคาร

ธนาคารกำหนดกลยุทธ์การดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชนและสังคม โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความท้าทายในปัจจุบัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียรวมถึงหน่วยงานพันธมิตร และกลยุทธ์ทางธุรกิจและความเชี่ยวชาญของธนาคาร ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมที่ธนาคารสนับสนุนจะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนมีประโยชน์ต่อธนาคาร พนักงานที่เข้าร่วม และพันธมิตร กิจกรรมพัฒนาชุมชนและสังคมของธนาคารแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. การสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและสังคม 2. การสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของกลุ่มเปราะบางและการพัฒนาทางการแพทย์ 3. การพัฒนาเยาวชนและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา 4. การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรและเอสเอ็มอี 5. การส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และ 6. การทำนุบำรุงศาสนา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  1. การสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและสังคม

    • การสนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์และ โครงการบัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้ง

      ธนาคารสนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสานต่อพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน สามารถรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้ ธนาคารได้ร่วมกับมูลนิธิบัวหลวงและมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ดำเนินโครงการบัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในปีนี้โครงการได้เสริมสร้างความสามารถในการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ผ่านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างและปรับปรุงฝาย สระ อ่างเก็บน้ำ ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบประปาภูเขา และระบบกรองน้ำดื่ม ให้แก่ 7 ชุมชน ใน 7 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 1,000 ไร่ มีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 2,000 ครัวเรือน และมีปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 58,000 ลูกบาศก์เมตร

    • โครงการผู้กำกับน้อย ซีซั่น 2

      ธนาคารดำเนินโครงการ Young Director Award - ผู้กำกับน้อย เป็นปีที่ 2 โดยเชิญชวนให้นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจการผลิตคอนเทนต์มาร่วมกันสร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น ตลอดจนเสริมความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน โดยเฉพาะใน 8 จังหวัดเมืองรอง ได้แก่ ลำพูน พิษณุโลก ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ชัยนาท จันทบุรี นครศรีธรรมราช และตรัง ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านวัฒนธรรมแต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ในขณะเดียวกัน โครงการยังเป็นโอกาสอันดีสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะได้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้วิธีการผลิตภาพยนตร์ครบทุกกระบวนการจากสุดยอดวิทยากรและผู้กำกับมือทอง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอนาคต

    • โครงการร่วมบริจาควีลแชร์ เพื่อมอบให้แก่ผู้พิการที่ขาดทุนทรัพย์

      ธนาคารได้ร่วมสนับสนุนสถานีวิทยุ จส.100 ดำเนิน โครงการร่วมบริจาควีลแชร์ เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้พิการที่ขาดทุนทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2562 โครงการนี้ได้ส่งมอบวีลแชร์ไปแล้วรวมกว่า 3,860 คัน ผ่านเครือข่ายของสาธารณสุขจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงประชาชนทั่วไป ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกายและขาดแคลนทุนทรัพย์ให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมนอกสถานที่ได้สะดวกมากขึ้น
  2. การสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของกลุ่มเปราะบางและการพัฒนาทางการแพทย์

    • บัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่สนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

      ธนาคารพร้อมด้วยลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตและบัตรเดบิต บัตรเครดิตไทเทเนียม โรงพยาบาลรามาธิบดี ธนาคารกรุงเทพ บัตรเครดิตวีซ่า แพลทินัม ศิริราช ธนาคารกรุงเทพ และบัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท แรบบิท ศิริราช ร่วมสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ในโรงพยาบาล ผ่านการบริจาคเงินค่าธรรมเนียมผู้ถือบัตรรายปี นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถบริจาคเงินผ่านการแลกคะแนนสะสม โดยธนาคารนอกจากจะสมทบเพิ่มให้เท่ากับยอดเงินบริจาคของลูกค้าแล้ว ยังสมทบเพิ่มเติมให้อีกร้อยละ 0.2 ของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรด้วย ณ สิ้นปี 2566 มีผู้ถือบัตรเครดิตและบัตรเดบิตดังกล่าวรวมแล้วกว่า 1.1 ล้านราย และมียอดบริจาคทั้งสิ้นกว่า 500 ล้านบาท

    • หน่วยแพทย์และทันตกรรมเคลื่อนที่

      ธนาคารร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสนับสนุนมูลนิธิหน่วยแพทย์และทันตแพทย์เคลื่อนที่ในการให้บริการทางการแพทย์และทันตกรรมโดยไม่คิดค่ารักษาบริการแก่ประชาชนที่ด้อยโอกาสในชนบทและถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ครอบคลุมการตรวจรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางบางโรค การอุดฟัน การถอนฟัน การผ่าฟันคุด การขูดหินปูน การเคลือบฟลูออไรด์ การเคลือบหลุมร่องฟัน และการใส่ฟันปลอม ในปี 2566 มีการออกหน่วยเคลื่อนที่รวม 4 ครั้ง ที่จังหวัดจันทบุรี จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดน่าน มีประชาชนเข้ารับบริการรวม 7,033 คน และมีผู้บริหารและพนักงานธนาคารร่วมเป็นจิตอาสาช่วยงาน 73 คน

    • โครงการ 80 แสนซีซี 80 ปีธนาคารกรุงเทพ

      เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี ของการก่อตั้งธนาคาร ที่จะมาถึงในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 นี้ ธนาคารจึงได้เชิญชวนลูกค้า ประชาชน และพนักงานธนาคารทั่วประเทศ ร่วมกันบริจาคโลหิตให้แก่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยมีเป้าหมาย 80 แสน ซีซี (8 ล้าน ซีซี) นอกจากนี้ ธนาคารยังมอบถุงกระดาษรักษ์โลกที่ได้จากโครงการ Bualuang Save the Earth ชุบชีวิตกระดาษใช้แล้ว เพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมบริจาคโลหิตนำไปใช้บรรจุยาและเวชภัณฑ์ พร้อมทั้งมอบเงินจำนวน 100,000 บาท เพื่อร่วมจัดทำเสื้อยืดที่ระลึกมอบให้กับผู้บริจาคโลหิตเนื่องในโอกาส ‘วันผู้บริจาคโลหิตโลก ประจำปี 2566’
  3. การพัฒนาเยาวชนและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา

    การศึกษาที่มีคุณภาพจะช่วยให้ประเทศสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเน้นการสนับสนุนให้โรงเรียนเข้าใจการเชื่อมโยงฐานทุนในชุมชนตนเองให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต



    • โครงการโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี

      ธนาคารเดินหน้าสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง โดยมอบหมายให้ผู้จัดการสาขา 100 คน จาก 98 สาขาใน 50 จังหวัด ปฏิบัติหน้าที่ School Partner ทำงานเชื่อมโยงกับ 240 โรงเรียน และชุมชนโดยรอบโรงเรียนใน 54 จังหวัด เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยธนาคารได้ร่วมสนับสนุนโครงการและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในมิติต่าง ๆ ดังนี้

    • โครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (Learning Center)

      ธนาคารร่วมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนให้กับโรงเรียนวัดตโปทาราม จังหวัดชลบุรี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีรู้ โดยใช้ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการจัดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน

    • โครงการคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษา

      ในปี 2566 ธนาคารสานต่อการสนับสนุนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Notebook for Education โดยการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ที่สนใจร่วมบริจาคสมทบทุนจัดซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาให้กับ 8 โรงเรียน ใน 8 จังหวัด เพื่อเพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้และเข้าถึงข้อมูลให้กับเด็กและเยาวชนกว่า 2,170 คน และครูอีก 169 คน

    • โครงการฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

      ธนาคารร่วมมือกับ “โครงการโรงเรียนไทยสู่ความเป็นเลิศ” ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิชิน โสภณพนิช จัดอบรมหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นห่างไกลและขาดแคลนครูผู้สอนในจังหวัดพะเยา พร้อมทั้งสนับสนุนเงินทุนจัดซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและอุปกรณ์เสริมสภาพแวดล้อมภายในชั้นเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้มากขึ้น

    • โครงการบัวหลวงก่อการครู

      ธนาคารสานต่อ “โครงการบัวหลวงก่อการครู” ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนหลักสูตรอบรมเสริมทักษะการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางการศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency-based Education) พร้อมทั้งสนับสนุนทีมวิจัยลงพื้นที่เสริมสร้างการพัฒนานิเวศการเรียนรู้ภายใต้บริบทชุมชนให้กับ 8 โรงเรียนนำร่องในจังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสที่ดำเนิน “โครงการบัวหลวงก่อการครู” ครบตามกรอบการพัฒนา 3 ปี (ปี 2563 - 2566) ธนาคารได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงาน “เบิ่งแงงการศึกษาอุดรบ้านเฮา” เพื่อแสดงผลงานการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนนำร่องทั้ง 8 โรง ตลอดจนเสริมพลังให้โรงเรียนนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการไปขยายผลต่อไป

    • โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา

      ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาในบริบทของชุมชน จึงได้ดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนภายใต้ “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” ในโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จังหวัดนครสวรรค์ และโรงเรียนบ้านบางหมาก จังหวัดตรัง เพื่อมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ ซึ่งนอกจากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่โรงเรียนแล้ว ยังช่วยให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่เกิดความรักและภาคภูมิใจในองค์ความรู้ อาชีพ และวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนอีกด้วย
  4. การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรและเอสเอ็มอี

    • โครงการเกษตรก้าวหน้า

      คำถามว่า “ธนาคารกรุงเทพในฐานะ เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน จะมีส่วนช่วยให้ภาคการเกษตรที่เป็นภาคส่วนสำคัญของประเทศก้าวหน้าขึ้นได้อย่างไร” ได้นำมาสู่การริเริ่มโครงการเกษตรก้าวหน้าในปี 2542 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของภาคการเกษตร ตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน โครงการเกษตรก้าวหน้าได้สนับสนุนภาคการเกษตรในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การสนับสนุนความรู้เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร การสนับสนุนเครือข่ายเกษตรกรเพื่อแบ่งปันความรู้และสร้างโอกาสทางการตลาดร่วมกัน จนถึงการสนับสนุนด้านการตลาดและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผ่านการจัดกิจกรรมหลากหลาย เช่น กิจกรรมสนทนาเทคโนโลยี กิจกรรมการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรก้าวหน้าระดับชาติ และกิจกรรมเพื่อนคู่คิด เกษตรก้าวหน้า ในปีพ.ศ. 2566 ธนาคารได้จัดเสวนาเพื่อนคู่คิด เกษตรก้าวหน้า 2 ครั้ง โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกรผู้มากประสบการณ์มาร่วมเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “ปุ๋ยแพงแก้อย่างไร เรียนรู้ได้จากชาวนามืออาชีพ” และ “การป้องกันวิกฤต ผลผลิตลดหายของมันสำปะหลัง” มีผู้เข้าร่วมงานรวมกว่า 280 คน นอกจากนี้ ผู้บริหารธนาคารและทีมงานเกษตรก้าวหน้าได้ไปเยี่ยมเยียนเกษตรกรก้าวหน้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อสรรหาตัวอย่างความสำเร็จและนำประสบการณ์ความรู้ต่าง ๆ เผยไปแพร่ต่อในวงกว้าง

      ในปี 2566 ธนาคารได้กลับมาจัดงานวันเกษตรก้าวหน้าประจำทุกปี ณ บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ สีลม หลังจากห่างหายไปในช่วงสถานการณ์โควิด งานประจำปี 2566 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีนำสมัย การจัดการเหมาะสม สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เปิดโอกาสให้เกษตรกรโดยเฉพาะรายเล็กได้นำสินค้ามาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคด้วยตนเอง มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าคุณภาพจากทั่วทุกภูมิภาคจำนวน 56 ร้านค้า ทั้งสินค้าเกษตรนวัตกรรม สินค้าเกษตรชุมชน และสินค้าเกษตรปลอดภัยต่อสุขภาพ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน รวมยอดขายสินค้ากว่า 3 ล้านบาท ในงานดังกล่าวมีการจัดสัมมนา “เกษตรก้าวหน้า 2566” เพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี ระเบียบการค้าโลก และพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยมีหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น “ทิศทางเกษตรไทยในยุคดิจิตอลเทคโนโลยี”, “ดาวเทียม THEOS-2 กับการพัฒนาภาคการเกษตร”, “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรับภัยแล้ง”, “ภาคเกษตรไทยกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวทีเสวนากับ 3 สุดยอดเกษตรกรก้าวหน้าปี 2566 ได้แก่ นายสุวิทย์ ไตรโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด นายสุนทร ศรีทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลู ริเวอร์ โปรดักส์ จำกัด นายฐิติพงษ์ จงหมายลักษณ์ กรรมการบริษัท บริษัท เชียงใหม่เฟรช โปรดักส์ จำกัด มีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าวกว่า 100 คน

    • ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี

      ธนาคารส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายความร่วมมือของเอสเอ็มอี โดยได้สนับสนุนการจัดตั้งชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี ที่มีอายุกว่า 20 ปี พร้อมทั้งได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมของชมรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมสัมมนา การศึกษาดูงาน การจับคู่ทางธุรกิจ ตลอดจนการสนับสนุนพื้นที่บริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ สีลม ให้เอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกของชมรมได้นำสินค้ามาจำหน่ายให้พนักงาน ลูกค้า และประชาชนทั่วไป ในปี 2566 ธนาคารได้เปิดพื้นที่ให้ชาวบัวหลวงเอสเอ็มอีกว่า 85 รายได้นำเสนอสินค้าและสร้างโอกาสต่อยอดธุรกิจในงาน “บัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์ ครั้งที่ 14 @ Bangkok Bank” ในงานมีสินค้าอุปโภคบริโภค ของแต่งบ้าน อาหารสด อาหารแปรรูป ให้เลือกซื้ออย่างจุใจ พร้อมทั้งมีการจัดสัมมนา “Digital Transformation for SME” เพื่อเสริมแกร่งเอสเอ็มอีในยุคดิจิทัล ตอกย้ำถึงการเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่อยู่เคียงข้างเอสเอ็มอีในทุกสถานการณ์ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน รวมยอดขายกว่า 8 ล้านบาท

      ในปี 2566 ธนาคารยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกตลอดจนเอสเอ็มอีอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก โดยเฉพาะการจัดสัมมนาเพิ่มทักษะความรู้ในหัวข้อที่กำลังเป็นที่สนใจของเอสเอ็มอี เช่น “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว Tranformation Loan” “อัพสกิลบัญชี เปลี่ยนชีวิต SMEs” “การบริหารจัดการน้ำกับแนวทาง BCG” “การบริหารการเงินและต้นทุน: หลักสูตรบัวหลวง รุ่นที่ 66” “การปรับตัวเรื่องระบบบัญชีในยุคดิจิทัล สำหรับ SME ในปัจจุบัน” “Digital Transformation for SME” “วิเคราะห์เจาะลึกเศษฐกิจ ปี 2566 SME จะปรับตัวอย่างไร” “เหลียวหลังแลหน้า เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวอย่างไร” “การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน” Digital Marketing โอกาสหรืออุปสรรคของ SME” และสัมมนาพิเศษ ครบรอบ 20 ปี บัวหลวงเอสเอ็มอี “SMEs Tranformation เติบโต ยั่งยืน” การจัดสัมมนาทุกครั้งได้รับการตอบรับจากสมาชิกและผู้สนใจเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมรวมทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน
  5. การส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

    ธนาคารก่อตั้งศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ขึ้นในปี 2522 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น ดนตรีไทย นาฏศิลป์ ศิลปะการแสดง และการละเล่นพื้นบ้าน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ได้จัดกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมสังคีตสราญรมย์ การประกวดดนตรีไทย ประลองเพลง ประเลงมโหรี และโครงการสร้างสรรค์วรรณศิลป์ “กวีปากกาทอง” รวมทั้งได้เผยแพร่ศิลปะการแสดงอันทรงคุณค่าผ่านช่องทาง Facebook และ YouTube ในชื่อ “ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ” ในปี 2566 ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ได้ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดการประกวดดนตรีไทยระดับมัธยมศึกษา “ประลองเพลง ประเลงมโหรี” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 35 พ.ศ. 2566 โดยมีเยาวชนให้ความสนใจเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก
  6. การทำนุบำรุงศาสนา

    • กิจกรรมทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน

      ธนาคารเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ได้รับสนองพระมหากรุณาธิคุณให้น้อมอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายยังพระอารามหลวงหมุนเวียนไปทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงวัดไทยในต่างประเทศ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 57 ในปี 2566 ธนาคารได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดแก้วพิจิตร พระอารามหลวง จังหวัดปราจีนบุรี โดย กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า และประชาชนผู้มีจิตกุศล ได้ร่วมทำบุญกฐินพระราชทานเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 14,445,339.50 บาท เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถ เสนาสนะ และบำรุงพระอาราม

    • กิจกรรมถวายเครื่องสักการะเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา

      การธำรงรักษาวัฒนธรรมและกิจกรรมทางพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไปเป็นหนึ่งในภารกิจหนึ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการถวายสักการะพระเถระผู้ใหญ่ในโอกาสเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งถือเป็นประเพณีปฏิบัติประจำปีของธนาคาร ในปี 2566 ธนาคารได้นำเครื่องสักการะไปถวายแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมทั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (ม.ส.) 20 รูป ที่ปรึกษามหาเถรสมาคมและพระเถระผู้ใหญ่ 5 รูป รวมทั้งสิ้น 25 รูป จำพรรษา ณ 22 พระอาราม

    • พิธีฉลองเปรียญธรรม 9 ประโยค

      ในปี 2566 ธนาคารได้จัดพิธีฉลองมุทิตาสักการะให้แก่พระภิกษุสามเณรผู้สำเร็จปริญญาบัณฑิต ระดับเปรียญธรรม 9 ประโยค ต่อเนื่องเป็นปีที่ 50 โดยมีพระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองบาลีสนามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายสิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ กรรมการธนาคาร เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มีพระภิกษุสามเณรสอบเปรียญธรรม 9 ประโยค ได้รวมทั้งสิ้น 60 รูป แบ่งเป็นพระภิกษุ 50 รูป และสามเณร 10 รูป
การแสดงความรับผิดชอบและสร้างคุณค่าต่อสังคมผ่านการบริหารจัดการด้านห่วงโซ่อุปทาน
ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลป้องกันความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันอาจเกิดจากการดำเนินงานของคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานของธนาคาร ธนาคารได้กำหนดจรรยาบรรณของคู่ค้าเพื่อแสดงความคาดหวังที่ธนาคารมีต่อคู่ค้าในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งรวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และสิทธิชุมชน พร้อมทั้งสื่อสารและสนับสนุนให้คู่ค้าทุกรายดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบตามที่ระบุในจรรยาบรรณคู่ค้าของธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ในห่วงโซ่อุปทาน การส่งเสริมการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดกิจกรรมความรู้ด้าน ESG ให้แก่คู่ค้าของธนาคาร เพื่อร่วมกันกับคู่ค้าในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีคุณค่าต่อสังคม

“คู่ค้า” ในห่วงโซ่อุปทานของธนาคารแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. คู่ค้า คือ ผู้ส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร โดยดำเนินการผ่านส่วนจัดซื้อของธนาคาร 2. ผู้รับจ้าง คือ ผู้ให้บริการงานซ่อมแซม ปรับปรุง และดูแลรักษาอุปกรณ์และอาคารสำนักงานต่าง ๆ ของธนาคาร) และ 3. ผู้ให้บริการภายนอก คือ ผู้ดำเนินการแทนธนาคารในงานเฉพาะด้านบางประเภท ในปี 2566 ธนาคารมีคู่ค้าที่ขึ้นทะเบียนกับธนาคารทั้งสิ้น 2,713 ราย ประกอบด้วยคู่ค้าในประเทศ 2,317 ราย และคู่ค้าต่างประเทศ 396 ราย โดยในจำนวนคู่ค้าที่ขึ้นทะเบียนมีคู่ค้ารายใหม่ 64 ราย และธนาคารได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับคู่ค้ารวม 1,130 ราย

การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในห่วงโซ่อุปทาน

การบริหารจัดการด้าน ESG ในห่วงโซ่อุปทานของธนาคารประกอบด้วย การคัดกรองคู่ค้ารายใหม่โดยการนำประเด็นสำคัญด้าน ESG มาประกอบการพิจารณา การประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจของธนาคารเป็นประจำควบคู่กับการจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ การสื่อสารจรรยาบรรณคู่ค้าให้คู่ค้าทุกรายรับทราบ รวมทั้งมีกระบวนการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ค้าและพร้อมสนับสนุนให้คู่ค้าทุกรายสามารถปฏิบัติตามได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคารยกระดับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ โดยการเชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีเครือข่ายแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย



นอกจากนี้ ธนาคารได้กำหนดนโยบายการใช้บริการจากบุคคลภายนอกด้านงานทั่วไป ครอบคลุมหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ให้บริการ การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน การรักษาความปลอดภัยและความลับของข้อมูล ตลอดจนการใช้แรงงาน ธนาคารมอบหมายให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้บริการจากบุคคลภายนอกทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้บริการจากบุคคลภายนอกให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว หน่วยงานที่ใช้บริการจากบุคคลภายนอกมีหน้าที่นำเสนองานที่ต้องการใช้บริการและผู้ให้บริการที่มีความเหมาะสมต่อคณะกรรมการกลั่นกรอง ดูแลการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของคู่ค้า ตลอดจนติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและจรรยาบรรณคู่ค้าของธนาคาร โดยธนาคารจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบการพิจารณาทบทวนทะเบียนคู่ค้าในรอบปีถัดไปหรือเมื่อครบสัญญาจ้าง ธนาคารได้นำหลักการการป้องกันสามชั้นมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานของธนาคาร หน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามระเบียบของธนาคาร ตลอดจนกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานตรวจสอบทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีผู้ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการดำเนินงานหรือกิจกรรมของคู่ค้าที่ดำเนินการภายใต้สัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับธนาคาร ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนมายังช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ของธนาคารได้

กระบวนการคัดเลือกคู่ค้า

ธนาคารเคารพสิทธิคู่ค้าและปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ธนาคารมีแนวทางการคัดกรองคู่ค้าที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญอย่างครบถ้วน เช่น ความสามารถในการผลิตสินค้าและให้บริการ คุณภาพของสินค้าและบริการ ความมั่นคงและน่าเชื่อถือ ตลอดจนการดำเนินการด้าน ESG ของคู่ค้า คู่ค้าทุกรายทั้งรายใหม่และรายเดิมจะต้องทำแบบประเมินตนเองด้าน ESG ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการและมาตรฐานสากล การเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงานตามอนุสัญญาหลักด้านสิทธิแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ การไม่ใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ การป้องกันและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน การรับเรื่องร้องเรียน เป็นต้น คู่ค้าต้องผ่านเกณฑ์ประเมินตามที่ธนาคารกำหนดไว้ก่อนจึงจะสามารถขึ้นทะเบียนคู่ค้าและทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับธนาคารได้ หลังจากที่ผ่านการคัดกรองคู่ค้าแล้ว ธนาคารอาจเชิญคู่ค้ามานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการพร้อมทั้งรับทราบแนวทางปฏิบัติต่อคู่ค้าของธนาคาร ธนาคารอาจมีการประเมินคุณสมบัติของคู่ค้าตามเกณฑ์การประเมินด้านศักยภาพการให้บริการและความน่าเชื่อถือเพิ่มเติม รวมทั้งอาจมีการเข้าเยี่ยมชมกิจการของคู่ค้าเพื่อตรวจสอบและประเมินผลเพิ่มเติมตามความเหมาะสม นอกจากนี้ ธนาคารได้นำวิธีการประมูลออนไลน์ (e-Auction) มาใช้ในการจัดซื้อเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม

การประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในห่วงโซ่อุปทาน

ธนาคารมีการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ของคู่ค้าเป็นประจำ โดยเน้นไปที่กลุ่มคู่ค้าที่มีความสำคัญสูง (Critical Supplier) ได้แก่ คู่ค้าที่ธนาคารซื้อสินค้าและบริการคิดเป็นมูลค่าสูง คู่ค้าที่ผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของธนาคาร และคู่ค้าที่ผลิตสินค้าและบริการซึ่งไม่สามารถหาจากแหล่งอื่นมาใช้ทดแทนได้ ธนาคารได้ระบุประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญ โดยพิจารณาจากโอกาสในการเกิดและความรุนแรงของผลกระทบ ดังนี้ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 1. การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2. การจัดการด้านพลังงาน และ 3. การจัดการของเสียและวัตถุอันตราย ความเสี่ยงด้านสังคม ประกอบด้วย 1. สิทธิมนุษยชน 2. การปฏิบัติต่อพนักงานและ 3. อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล ประกอบด้วย 1. การคอร์รัปชัน 2. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 3. การทุจริต ในกรณีที่พบว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงกว่าที่ธนาคารยอมรับได้ ธนาคารจะพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันความเสี่ยงเพิ่มเติมหรือที่เข้มข้นกว่าเดิม ในปี 2566 ความเสี่ยงด้าน ESG ของคู่ค้ายังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อีกทั้งความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของคู่ค้าไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร

การจัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ธนาคารสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือคาร์บอนต่ำ โดยได้ทำการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายรายการ เช่น กระดาษถ่ายเอกสารที่ใช้เยื่อกระดาษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แบบฟอร์มที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล ผงหมึกพิมพ์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากล เครื่องแบบพนักงานที่ได้รับฉลากคูลโหมด เครื่องดับเพลิงแบบละอองน้ำชนิดปลอดสาร CFC ของที่ระลึกที่ผลิตโดยการอัพไซเคิล สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ วัสดุและเฟอร์นิเจอร์สำนักงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ