การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม

ความมุ่งมั่น


การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ และเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของคนทุกรุ่น

ความสำคัญ


นวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมการใช้บริการทางการเงินของลูกค้าในปัจจุบัน ความต้องการใช้บริการทางการเงินที่มีความสะดวกรวดเร็วและสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอดจนความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ของลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร การพัฒนาศักยภาพในการปรับใช้เทคโนโลยีจะช่วยให้ธนาคารมีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น และสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ไร้รอยต่อ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ธนาคารให้ความสำคัญกับการพัฒนาสู่ความเป็นดิจิทัลพร้อมทั้งมุ่งมั่นส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภายในองค์กรมาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า และเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ที่ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับลูกค้าในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงิน ธนาคารให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์และวิธีการป้องกันภัยให้แก่ลูกค้า พนักงาน และบุคคลทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ
การบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม

การบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมของธนาคารเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสายเทคโนโลยี ฝ่ายนวัตกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงหน่วยงานธุรกิจซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และบริการ และหน่วยงานสนับสนุนต่าง ๆ โดยสายเทคโนโลยีมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการทำงานและการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของหน่วยงานต่าง ๆ ในขณะที่ฝ่ายนวัตกรรมเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีหน้าที่วิจัยพัฒนาและจัดหาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการนำมาประยุกต์ใช้กับธนาคาร เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเป็นตัวเร่งและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กรและการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ ธนาคารยังได้จัดตั้งบริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนในเครือธนาคารกรุงเทพ เพื่อทำหน้าที่ลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพสูง และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีทางการเงิน ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกับธนาคาร ในปี 2566 บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท เอส เทลลิเจนซ์ จำกัด (STelligence) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และระบบอัตโนมัติ และเป็นผู้บุกเบิกการให้บริการโซลูชันวิเคราะห์ข้อมูลในประเทศไทย การลงทุนดังกล่าวเป็นโอกาสที่จะช่วยเสริมศักยภาพในการนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับความปลอดภัย ตลอดจนนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการของลูกค้าของธนาคาร

การวางรากฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและแนวคิดการทำงานในยุคดิจิทัล

ธนาคารตระหนักดีว่า ในยุคดิจิทัล การทำงานในรูปแบบเดิมจะไม่เอื้ออำนวยให้ธนาคารสามารถรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันไว้ได้อย่างยั่งยืน ธนาคารจึงได้ดำเนินการวางรากฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลพร้อมทั้งนำแนวคิดการทำงานในยุคดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ดังนี้


  • การปรับปรุงระบบงานหลัก รวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการและชุดข้อมูลของธนาคารให้มีความเชื่อมโยงและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์กร นำไปสู่กระบวนการทำงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพและช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน
  • การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ เช่น การทำงานที่มีความคล่องตัว (Agile) การลดลำดับขั้นตอนการทำงาน (Hierarchy) การส่งเสริมให้พนักงานได้ทดลองและเรียนรู้ และการนำพนักงานจากหลากหลายสายงานมาทำงานเป็นทีมเดียวกันเพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ได้อย่างรวดเร็วขึ้น
  • การนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้เพื่อทำความเข้าใจกับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และหาแนวทางการตอบสนองที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่ม
  • การสร้างระบบนิเวศดิจิทัลและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อใช้ในการรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ และการมอบประสบการณ์การใช้บริการที่ดีให้แก่ลูกค้า
  • การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ภายในสายงานต่าง ๆ ของธนาคาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดความผิดพลาดที่เกิดจากคน ลดระยะเวลาการดำเนินงาน และลดค่าใช้จ่าย เช่น Robotic Process Automation (RPA) Optical Character Recognition (OCR) Cognitive Machine Reading (CMR) Artificial Intelligence (AI) บล็อกเชน (Blockchain) Cloud Computing และ Microsoft Power Platform
  • การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้ในการประเมินพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะกลุ่ม รวมถึงช่วยยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า
  • การปรับเปลี่ยนระบบงานด้านการจ่ายเงินทางดิจิทัลให้ทันสมัย เพื่อรองรับสังคมแบบไร้เงินสดที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด




การยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน

ธนาคารได้จัดตั้งสายปฏิบัติการสนับสนุนแห่งอนาคตขึ้น เพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของสายงานธุรกิจ ปรับเปลี่ยนการทำงานของสายปฏิบัติการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ตลอดจนสนับสนุนให้ธนาคารสามารถมุ่งสู่ความเป็นเลิศในงานปฏิบัติการ 5 ด้าน ได้แก่ 1.การบริการที่เป็นเลิศ 2. ระบบและขั้นตอนการทำงานที่เป็นเลิศ 3. การบริหารจัดการที่เป็นเลิศ 4. บุคลากรที่เป็นเลิศ และ 5. การควบคุมที่เป็นเลิศ โดยในปี 2566 สายปฏิบัติการสนับสนุนแห่งอนาคตได้ปรับระบบงานต่าง ๆ ที่ใช้สนับสนุนกระบวนการปฏิบัติงานด้านสินเชื่อให้สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดและระยะเวลาของกระบวนการด้านสินเชื่อ รวมถึงช่วยให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้จัดโครงการ Tech Adoption Challenge 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลพร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในองค์กร ทั้งนี้ หากนำผลงานทั้งหมดที่ได้นำเสนอในโครงการมาขยายผลสู่การปฏิบัติจริง คาดว่าจะสามารถช่วยให้ธนาคารลดค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างผู้พัฒนาจากภายนอกได้กว่า 14 ล้านบาทต่อปี ลดเวลาทำงานได้กว่า 30,000 ชั่วโมงต่อปี ลดการใช้กระดาษได้กว่า 1.6 ล้านแผ่นต่อปี ซึ่งเทียบเท่าการตัดต้นไม้ 123 ต้น หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกกว่า 15,991 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่

ธนาคารกำหนดกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาความต้องการ วัตุประสงค์ และเป้าหมายของลูกค้า การออกแบบและกำหนดรายละเอียดของผลิตภัณฑ์และบริการ การประเมินและจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเสี่ยงด้านข้อมูลส่วนบุคคลและด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของทางการ การจัดทำผลิตภัณฑ์และบริการต้นแบบ การทดสอบผลิตภัณฑ์และบริการกับกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม รวมถึงการรวบรวมความคิดเห็นและประสบการณ์หลังการทดลองใช้ของลูกค้า การปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดที่พบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่อจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ไปจนถึงการนำผลิตภัณฑ์และบริการออกสู่ตลาดหรือเปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการ
ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สำคัญ

โมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ

ธนาคารได้พัฒนาบริการโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ธนาคารได้ปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและฟังก์ชันต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น เช่น การจัดเรียงปุ่มกดต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมด้วยการถือโทรศัพท์มือเดียว การปรับเมนูที่ใช้บ่อยไว้ใกล้ตำแหน่งนิ้วโป้งหรืออยู่ในตำแหน่งที่กดใช้ได้ง่ายยิ่งขึ้น การจัดเรียงเนื้อหาตามรูปแบบการอ่านที่ง่ายขึ้น การเปลี่ยนตำแหน่งของแบนเนอร์สิทธิประโยชน์ไว้ด้านบนเพื่อไม่ให้ลูกค้าพลาดสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ ของธนาคาร บริการโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ มีฟีเจอร์เด่น ดังนี้
·

  • บริการเปิดบัญชีเงินฝาก e-Savings ออนไลน์ บัญชีกองทุนรวม บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ บัญชีพันธบัตร และบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ (FCD e-Savings) ผ่านโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ
  • บริการเปิดบัญชีพันธบัตรรัฐบาล สำหรับลูกค้า e-Savings ที่่ผ่านการยืนยันตัวตนแบบดิจิตอล หรือ National Digital ID (NDID)
  • บริการขอรายการเดินบัญชีย้อนหลัง
  • บริการสมัครบัตรเครดิต และบัตรเดบิต Co-Brand พร้อมเชื่อมต่อข้อมูลคะแนนสะสมมาแสดงบนโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพได้ทันที
  • บริการผ่อนชำระ 0% สำหรับลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตรายใหม่ ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
  • บริการแจ้งเตือนก่อนบัตรเดบิตหมดอายุ และการขอออกบัตรเดบิตใหม่ หรือกรณีบัตรหาย บัตรชำรุด
  • บริการการล็อกและปลดล็อกการโอนเงิน เติมเงิน และจ่ายเงินบนแอปพลิเคชัน ซึ่งลูกค้าผู้ใช้งานสามารถทำการล็อกบัญชีเพื่อป้องกันไม่ให้มีการโอนเงิน เติมเงิน และจ่ายเงินจากบัญชีได้ และสามารถปลดล็อกได้โดยการยืนยันตัวตนผ่านการสแกนใบหน้า
  • บริการเปลี่ยนวงเงินต่อวัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถกำหนดวงเงินการทำธุรกรรมในแต่ละวันให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเองมากที่สุด

Cross-Border QR Payment

ธนาคารให้บริการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยการสแกน QR Code ของร้านค้าในต่างประเทศผ่านโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง (Outbound) โดยธนาคารจะหักเงินจากบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทที่ผูกไว้กับโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะที่ทำรายการ ผู้ใช้บริการจะได้รับ e-Slip ยืนยันการทำรายการทันทีเมื่อทำรายการชำระเงินสำเร็จ ในทางกลับกัน ร้านค้าในประเทศไทยก็สามารถรับเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติผ่านการสแกน PromptPay QR Code ได้ทันที (Inbound) ทั้งนี้ บริการดังกล่าวได้เปิดให้บริการแล้วในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และกัมพูชา (เฉพาะ Inbound)

BeMerchant NextGen

BeMerchant NextGen เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยรับชำระเงินผ่าน QR Code พร้อมทั้งจัดเก็บประวัติการรับเงินให้แก่ร้านค้าต่าง ๆ เหมาะสำหรับร้านค้ารายย่อย ไม่ว่าจะเป็นร้านห้องแถว ร้านค้าในตลาดสด หรือร้านรถเข็น แอปพลิเคชันดังกล่าวรองรับการรับชำระเงินผ่าน QR Code ได้หลากหลายโดยไม่มีการกำหนดยอดเงินขั้นต่ำ ไม่ว่าจะเป็น QR Code พร้อมเพย์ (ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม) QR Code ของแอปพลิเคชันที่ผูกบัตรเครดิต/บัตรเดบิต เช่น วีซ่าการ์ด มาสเตอร์การ์ด ยูเนี่ยนเพย์ ทีพีเอ็น ตลอดจน QR Code ของวีแชทเพย์ และอาลีเพย์ สอดรับกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคยุคใหม่และช่วยสนับสนุนการเป็นสังคมไร้เงินสด ในปี 2566 มีร้านค้า BeMerchant NextGen จำนวน 1,097,942 ร้าน และมีจำนวนธุรกรรมรวมกว่า 53.33 ล้านธุรกรรม

dStatement

ธนาคารให้บริการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝากระหว่างธนาคารในรูปแบบดิจิทัลผ่านโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่ต้องการใช้ข้อมูลรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝากเป็นหลักฐานประกอบการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การสมัครขอสินเชื่อ โดยธนาคารสามารถส่งข้อมูลไปยังธนาคารอีกแห่งหนึ่งได้โดยตรง ตามคำสั่งหรือคำยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอน ขจัดปัญหาเอกสารสูญหาย และลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้ รวมถึงมีระบบการรักษาความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากลที่ใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม National Digital ID (NDID)

บริการ PromptBiz

PromptBiz เป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนการทำธุรกรรมทางการค้า การชำระเงิน และการเข้าถึงบริการสินเชื่อแบบดิจิทัลของธุรกิจได้อย่างครบวงจร ประกอบด้วย 2 บริการหลัก ได้แก่ 1. บริการรับ-ส่งเอกสารการค้าและการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล และ 2. บริการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยผู้ขอสินเชื่อสามารถใช้ข้อมูลธุรกรรมการค้าและการชำระเงินในระบบ PromptBiz ประกอบการขอสินเชื่อได้ บริการ PromptBiz ช่วยลดภาระและข้อผิดพลาดในการตรวจสอบหรือติดตามเอกสาร ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น ค่ากระดาษ ค่าจัดเก็บเอกสาร และค่าขนส่ง ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมการค้าและการชำระ และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจเนื่องจากธนาคารสามารถนำข้อมูลประวัติการค้าและการชำระเงินของผู้ใช้ PromptBiz มาใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

บริการคอร์ปอเรท ไอแคช

คอร์ปอเรท ไอแคช เป็นบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ถึงขนาดกลาง ซึ่งรองรับการทำธุรกรรมได้อย่างหลากหลายและครบถ้วน อาทิ 1. การโอนเงินระหว่างบัญชีตามคำสั่งเป็นครั้ง ๆ หรือแบบอัตโนมัติในระหว่างวัน 2. การส่งคำสั่งชำระเงินแบบกำหนดเวลาล่วงหน้าและยกเลิกรายการชำระเงินเมื่อต้องการได้ด้วยตนเอง 3. การกำหนดสิทธิต่าง ๆ ของผู้ใช้ระบบแต่ละท่านเพื่อเรียกดูข้อมูล ทำรายการชำระเงิน และอนุมัติรายการ 4. การจัดทำรายงานธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ เช่น ใบเสร็จรับเงิน หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย 5. การจัดทำรายงานกระแสเงินสดเพื่อวางแผนบริหารเงินของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ 6. การรวบรวมและแสดงผลรายงานการเคลื่อนไหวทางบัญชี รายการที่ดำเนินการ และธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ของบริษัทภายในกลุ่ม และ 7. การชำระเงินแก่คู่ค้าหรือรับเงินจากลูกค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ คอร์ปอเรท ไอแคช ยังใช้เทคโนโลยีที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลและใช้การพิสูจน์ตัวตน 2 ระดับ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยความมั่นใจ

บิซ ไอแบงก์กิ้ง

บิซ ไอแบงก์กิ้ง เป็นบริการธนาคารทางอินเตอร์เน็ตสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม ที่มาพร้อมกับฟังก์ชันการจัดการธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลายและสะดวก เช่น การตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวทางบัญชี การโอนเงินทั้งในและต่างประเทศ การจ่ายเงินเดือนพนักงาน การชำระเงินเข้าบัญชีคู่ค้า การชำระค่าสินค้าและบริการ การชำระเงินสมทบประกันสังคม บริการกองทุนรวม เป็นต้น อีกทั้งมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานในระดับสากลและใช้การพิสูจน์ตัวตน 2 ระดับ (2-Factor Authentication)

บริการ iTrade

iTrade เป็นระบบบริการออนไลน์สำหรับธุรกิจส่งออกและนำเข้า ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ธุรกิจสามารถจัดการธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศได้อย่างครบวงจร สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย ในระยะเริ่มแรก ธนาคารได้เปิดให้บริการด้าน Documentary Trade เช่น บริการเล็ตเตอร์ออฟเครดิตไปแล้ว ในระยะถัดไป ธนาคารมีแผนจะเปิดให้บริการ iTrade ระบบใหม่อย่างเต็มรูปแบบ โดยลูกค้าจะสามารถทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศได้ครบทุกประเภทธุรกรรมบนระบบที่มีการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล การเข้าใช้งานบนระบบและการอนุมัติรายการจะใช้การพิสูจน์ตัวตน 2 ระดับ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัยบน iTrade

บริการบัวหลวงไอซัพพลาย

บัวหลวงไอซัพพลาย เป็นบริการทางการเงินออนไลน์ครบวงจรสำหรับเครือข่ายการค้า ที่ผนวกการชำระ/รับชำระเงินค่าสินค้าและบริการเข้ากับการให้สินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นแบบออนไลน์ ด้วยการนำเอาระบบเทคโนโลยีมาเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกขึ้น อ้างอิงข้อมูลธุรกรรมการค้าที่เกิดขึ้นในเครือข่ายการค้า ซึ่งครอบคลุมทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ บริการชำระค่าสินค้าเพื่อผู้แทนจำหน่าย และบริการชำระค่าสินค้าเพื่อผู้ขาย ซึ่งช่วยทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันแก่ทุกฝ่ายในเครือข่ายธุรกิจ โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจกับคู่ค้าและลดภาระการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบกระดาษที่มีความไม่คล่องตัว นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้คู่ค้ารายย่อย ซึ่งมักเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงิน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ดี ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน บัวหลวงไอซัพพลายมีระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และใช้การพิสูจน์ตัวตน 2 ระดับ เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำธุรกรรมให้แก่ผู้ใช้งาน

บริการออกหนังสือค้ำประกันทางอิเล็กทรอนิกส์

ธนาคารให้บริการออกหนังสือค้ำประกันด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รองรับเทคโนโลยีบล็อกเชน ครอบคลุมหนังสือค้ำประกันมากถึง 9 ประเภท ผู้ใช้บริการสามารถขอออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่คู่ค้าได้ด้วยตัวเองทางออนไลน์ สามารถดูรายงานสถานะหนังสือค้ำประกันได้ตลอดเวลา และสามารถรับการแจ้งเตือนการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์และแจ้งเตือนวันครบกำหนดอายุหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอีเมล บริการดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการธุรกิจ ลดภาระการจัดเก็บหนังสือค้ำประกัน อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำส่งหนังสือค้ำประกันให้แก่คู่ค้า

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ