การเงินเพื่อความยั่งยืน

ความมุ่งมั่น


การบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ในกระบวนการให้สินเชื่อ และส่งเสริมการให้บริการทางการเงินอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป้าหมายของความตกลงปารีส

ความสำคัญ


ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการจัดการประเด็นท้าทายด้าน ESG และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การลดลงของขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งเป็นความท้าทายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธนาคารในฐานะตัวกลางทางการเงินมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนธุรกิจและครัวเรือนให้สามารถปรับตัวและรับมือกับความท้าทายต่างๆ การสนับสนุนธุรกิจให้สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมรวมทั้งเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ธนาคารให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ด้วยการปฏิบัติตามแนวนโยบายเกี่ยวกับการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย การผนวกประเด็นความเสี่ยงและผลกระทบด้าน ESG เข้าไปในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร พร้อมทั้งการสนับสนุนด้านการเงินแก่กิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณค่าต่อสังคม เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของธนาคาร ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
การบริหารจัดการ

การยกระดับการเงินเพื่อความยั่งยืน


ธนาคารได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในภาคการธนาคารไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 ธนาคารได้เข้าร่วมจัดทำคู่มือมาตรฐานอุตสาหกรรมเรื่อง การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Industry Handbook: Internalizing Environmental and Climate Change Aspects into Financial Institution Business for Banks) ของสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้สอดรับกับแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมุ่งหวังให้ธนาคารพาณิชย์บูรณาการโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ การกำหนดกลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง และการเปิดเผยข้อมูล

ธนาคารได้มีส่วนร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1 ครอบคลุมภาคพลังงานและภาคการขนส่ง ซึ่งล้วนเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูง และเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นในองค์กร ธนาคารได้จัดอบรมหัวข้อ “Inside Thailand Taxonomy: Journey to Sustainability” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก Climate Bond Initiatives (CBI) มาให้ความรู้ อีกทั้งได้เชิญชวนพนักงานให้เข้าร่วมการอบรมหลักสูตร Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ของสมาคมธนาคารไทย ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ของธนาคาร

ธนาคารเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่สะสมมานานและมียังแนวโน้มเพิ่มขึ้น ธนาคารจึงให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนตามแนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกหลักเกณฑ์สำหรับดูแลหนี้ครัวเรือนโดยมุ่งหวังให้เกิดการบริหารจัดการด้านสินเชื่อตลอดวงจรการเป็นหนี้ ตั้งแต่การการพัฒนาและโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ การให้สินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ การดูแลช่วยเหลือลูกหนี้ที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรังและหนี้เสีย ตลอดจนการให้ข้อมูลเงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกค้าควรรู้ แม้ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2567 แต่ธนาคารได้เริ่มตระเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนระบบการดำเนินงานด้านสินเชื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ล่วงหน้า

ธนาคารยังคงเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของพนักงานในประเด็นความเสี่ยงและโอกาสด้าน ESG อย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดกิจกรรมสัมมนา การอบรมหลักสูตรออนไลน์ด้านความยั่งยืนของธนาคาร การเผยแพร่ข่าวสารและบทความผ่านช่องทางการสื่อสารภายใน และการสนับสนุนให้พนักงานเข้าร่วมการอบรมสัมมนาที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานภายนอก ในปี 2566 ธนาคารได้จัดกิจกรรมสัมมนาหลากหลายหัวข้อ เช่น “การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทางรอดของธุรกิจในยุคโลกรวน” “ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตและพลังงานทดแทน โอกาสของธุรกิจในยุคโลกรวน” และ “Carbon footprint, Carbon Credit & Carbon Credit Market กับบทบาทงานสินเชื่อในปัจจุบันและอนาคต” โดยมุ่งหวังให้พนักงานที่เข้าร่วมสามารถนำความรู้ไปใช้ในการให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ลูกค้าได้

จากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืนมาโดยตลอด ส่งผลให้ในปี 2566 ธนาคารได้รับรางวัลด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืนถึง 3 รางวัล ประกอบด้วย รางวัล Best Bank for Sustainable Finance in Thailand และรางวัล Outstanding Leadership in ESG-related Loans for Asia-Pacific จาก Global Finance’s Sustainable Awards 2023 จัดโดยนิตยสาร Global Finance และรางวัล Best Sustainable Bank in Thailand จาก FinanceAsia Awards 2023 จัดโดยนิตยสาร FinanceAsia

การให้สินเชื่ออย่างยั่งยืน


ธนาคารได้จัดทำนโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งกำหนดรายการผู้ขอสินเชื่อหรือกิจกรรมที่ธนาคารไม่ให้การสนับสนุนสินเชื่อ (Exclusion List) พัฒนาการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อ ควบคู่ไปกับการสื่อสารนโยบายและแนวปฏิบัติให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดการอบรมเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการพิจารณาความเสี่ยงด้าน ESG ในกระบวนการสินเชื่อ และเพื่อให้การบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ธนาคารมอบหมายให้คณะกรรมการธนาคารมีหน้าที่กำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และติดตามผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและคณะกรรมการกำกับความเสี่ยงทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหารและพนักงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกลยุทธ์ นอกจากนี้ ธนาคารเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบด้าน ESG ที่อาจเกิดขึ้นจากการให้สินเชื่อของธนาคาร ผ่านช่องทางการติดต่อของธนาคาร

กรอบการพิจารณาสินเชื่อที่คำนึงถึงประเด็นด้าน ESG


ธนาคารนำประเด็นด้าน ESG มาเป็นปัจจัยในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการหรือกิจกรรมที่ธนาคารให้การสนับสนุนสินเชื่อ พร้อมทั้งจัดทำเครื่องมือประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้าน ESG สำหรับเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ทั้งนี้ นิยามของปัจจัยด้าน ESG ที่ธนาคารนำมาใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อโครงการ และสินเชื่อบุคคล ประกอบด้วย

  • ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การทำลายป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การก่อปัญหามลภาวะทางดิน น้ำ อากาศ เสียง และทะเล ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเนื่องจากกิจกรรมทางธุรกิจ
  • ด้านสังคม เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดสิทธิแรงงานและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม การก่อปัญหาหนี้สินครัวเรือน การละเมิดสิทธิชุมชนและผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งรวมถึงชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อย เช่น การสูญเสียที่ดินทำกิน การโยกย้ายถิ่นฐานโดยไม่สมัครใจ การถูกจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและระบบสาธารณูปโภค ผลกระทบทางลบต่อรายได้ วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิต สุขภาพและความปลอดภัย
  • ด้านธรรมาภิบาล เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน การละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล การฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
การสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อโครงการ

ธนาคารผนวกประเด็นด้าน ESG เข้าไปในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อโครงการเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านกฎหมาย ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า และด้านชื่อเสียงของธนาคาร เริ่มตั้งแต่กระบวนการการทำความรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า เช่น การฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมทั้งการตรวจสอบประวัติเสียหายและข่าวเชิงลบด้าน ESG ของผู้ขอสินเชื่อ เช่น การทำลายสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการทุจริตคอร์รัปชัน คำขอสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อโครงการจะถูกพิจารณาอย่างรอบคอบภายใต้มาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่ธนาคารกำหนดไว้ ตลอดจนมีกลไกควบคุมและติดตามที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยง

ธนาคารให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เช่น เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า และระบบโครงสร้างพื้นฐาน จึงได้นำหลักการอีเควเตอร์ (Equator Principles) มาประยุกต์ใช้กับกระบวนการพิจารณาสินเชื่อโครงการ ธนาคารกำหนดให้มีการพิจารณาความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการอย่างรอบด้าน อีกทั้งมีการนำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 การได้การรับรองมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในระดับประเทศหรือระดับสากล เช่น มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001 มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO45001 หรือ OHSAS18001 เป็นต้น ตลอดจนการบริหารจัดการความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการมาใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ


ตัวอย่างปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของสินเชื่อโครงการ


ปัจจัย

ความเสี่ยงและผลกระทบ

ด้านสิ่งแวดล้อม

  • การก่อปัญหามลภาวะทางอากาศ น้ำ ดิน หรือเสียง
  • การก่อผลกระทบต่อสัตว์ป่าหรือพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ตาม IUCN Red List
  • การก่อผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น พื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage) ป่าสงวนแห่งชาติ (Natural Forest) อุทยานแห่งชาติ (National Park) ป่าชายเลน (Mangrove) พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ซึ่งรวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Convention on Wetlands)

ด้านสังคม

  • การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน
  • ผลกระทบต่อรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพและความปลอดภัยของชุมชน
  • ผลกระทบต่อสิทธิชุมชน วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และการดำเนินชีวิตของชนพื้นเมือง

แนวทางการพิจารณาสินเชื่อโครงการ


  1. การจัดประเภทคำขอสินเชื่อโครงการตามระดับความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็น 3 ประเภท ดังนี้

    • Category A หมายถึง โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในระดับสูง
    • Category B หมายถึง โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในระดับปานกลาง
    • Category C หมายถึง โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในระดับต่ำหรือไม่มีผลกระทบ

  2. ในกรณีที่คำขอสินเชื่อโครงการถูกจัดให้อยู่ใน Category A หรือ Category B จะต้องมีการพิจารณาความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรอบด้านตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด ดังนี้

    • ลูกค้า ต้องจัดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการ และจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ได้มาตรฐาน การบริหารจัดการความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต้องประกอบด้วย

      1. การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการที่ขอสินเชื่อ
      2. การกำหนดแนวทางหรือมาตรการลดความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
      3. การจัดทำกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย
      4. การมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์

    • เจ้าหน้าที่ของธนาคาร ต้องศึกษารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของลูกค้าตลอดจนเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อระบุประเด็นความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่สำคัญ รวมทั้งมาตรการป้องกันและบรรเทาความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อและกำหนดเงื่อนไขสัญญาที่เหมาะสม

ธนาคารมีมาตรการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อเพื่อให้มั่นใจว่าสินเชื่อที่ธนาคารสนับสนุนจะได้รับการจัดการด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้คำขอสินเชื่อโครงการที่เข้าข่ายอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต้องมีมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบอย่างเหมาะสมและเพียงพอ และคำขอสินเชื่อที่ถูกจัดอยู่ใน Category A ต้องจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมทำการทบทวนการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบของโครงการ รวมทั้งทบทวนระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการด้วย นอกจากนี้ ธนาคารมีการกำหนดระดับการอนุมัติสินเชื่อที่สูงขึ้นตามระดับความเสี่ยง และหลังจากที่สินเชื่อได้รับการอนุมัติแล้วเจ้าหน้าที่ธนาคารจะติดตามผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นประจำในช่วงเวลาทบทวนวงเงินสินเชื่อตลอดระยะเวลาของสินเชื่อโครงการ

ผลการพิจารณาสินเชื่อโครงการ ปี 2566

ประเภทความเสี่ยง

จำนวนโครงการ

Category A

0

Category B

19

Category C

4

รวม

23

ผลการพิจารณา

จำนวนโครงการ

อนุมัติ

23

ปฏิเสธ

0

สินเชื่อบุคคล
ธนาคารได้นำประเด็นด้าน ESG มาประกอบการพิจารณาสินเชื่อบุคคล โดยในกระบวนการทำความรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าจะมีการพิจารณาปัจจัยด้าน ESG อย่างรอบคอบ เช่น การฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมทั้งวัตถุประสงค์ของคำขอสินเชื่อต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของการมีเงินเหลือไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้งการปฏิบัติตามตามแนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้ามีหนี้สินเกินตัวจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และผู้กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน หลังจากที่อนุมัติสินเชื่อแล้ว ธนาคารมีการติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายและชำระหนี้ของลูกค้าเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาทบทวนวงเงินให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ มีระบบแจ้งเตือนลูกค้าเมื่อเกินกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ (ในขอบเขตที่สามารถทำได้ตามกฎหมายการทวงถามหนี้) รวมถึงมีการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม ภัยทางธรรมชาติ และโรคระบาด ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเพื่อหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบต่อไป
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน
ธนาคารนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืนให้แก่ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมายด้านภูมิอากาศในความตกลงปารีส

กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่

ในปี 2566 ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้แก่ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และโครงการ วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 41,938 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อให้แก่โครงการพลังงานทดแทน ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

  • สินเชื่อเพื่อธุรกิจพลังงานทดแทน

    ธนาคารส่งเสริมธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุนด้านการผลิตและการส่งไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ

  • สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

    ธนาคารส่งเสริมให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะในมิติสิ่งแวดล้อมและสังคม ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ในปี 2566 สาขาธนาคารในต่างประเทศได้ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดใหญ่วงเงินกว่า 7,548 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการปรับปรุงกิจการหรือดำเนินโครงการ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะฝังกลบ และการเพิ่มชั่วโมงการฝึกอบรมของพนักงาน นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารได้เข้าร่วมกับธนาคารพาณิชย์อื่นในการสนับสนุนสินเชื่อหมุนเวียนที่เชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเป็นวงเงินกว่า 2,480 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร

  • สินเชื่อเพื่อธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า

    ธนาคารสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์จากยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลตลอดจนสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ผ่านการให้สินเชื่อแก่ผู้ผลิตและผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และสินเชื่อสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จรถไฟฟ้า

กลุ่มลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีก

ในปี 2566 ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้แก่ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยอดวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 5,902 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อบัวหลวงกรีนและบัวหลวงกรีน Solar Energy สินเชื่อเพื่อธุรกิจบำบัดและกำจัดของเสีย และสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่มีการนำเศษวัสดุกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย

  • สินเชื่อบัวหลวงกรีนและบัวหลวงกรีน Solar Energy

    ธนาคารส่งเสริมให้เอสเอ็มอีดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของประเทศ ผ่านการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ “สินเชื่อบัวหลวงกรีน” สำหรับการลงทุนตามวัตถุประสงค์ที่ธนาคารกำหนดไว้ ได้แก่
    1. การลงทุนด้านพลังงานทดแทน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนพลังงานทดแทนหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ การลงทุนเพื่อลดการใช้พลังงานภายในธุรกิจ การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และจักรยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
    2. การลงทุนด้านการจัดการของเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) หรือใช้ซ้ำ (Recycle)
    3. การลงทุนด้านการผลิตหรือการใช้วัสดุชีวภาพเพื่อทดแทนสารเคมีที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การทำการเกษตรอินทรีย์ การใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เป็นต้น

    โดยรวมถึงการปรับปรุงหรือพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนระบบหรือกระบวนการต่าง ๆ ในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนี้
    • การลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) และการใช้พลังงานหรือทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
    • การลงทุนเพื่อการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) ระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) หรือหุ่นยนต์ (Robotic) และการลงทุนเพื่อการนำนวัตกรรม (Innovation) มาใช้ในการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ธนาคารได้ขยายการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษไปสู่ผู้ประกอบการที่ลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในสถานประกอบการ ภายใต้สินเชื่อ “บัวหลวงกรีน Solar Energy” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานพร้อมลดก๊าซเรือนกระจกในขณะเดียวกัน ในปี 2566 ธนาคารได้มีความร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนสินเชื่อบัวหลวงกรีน Solar Energy วงเงินกู้สูงสุดร้อยละ 100 พร้อมเงื่อนไขพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่ต้องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาสถานีบริการ

  • สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจบำบัดและกำจัดของเสียและสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่มีการนำเศษวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เช่น การกำจัดน้ำเสีย การบำบัดและการกำจัดของเสียโดยวิธีชีวภาพ การนำของใช้แล้วและนำเศษวัสดุมาผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ เป็นต้น ในปี 2566 ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าววงเงินรวมกว่า 74 ล้านบาท

  • สินเชื่อเพื่อการปรับตัว

    ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สามารถลงทุนเพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ การดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการดำเนินธุรกิจโดยใช้นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต


กลุ่มลูกค้าบุคคล

ในปี 2566 ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนแก่ลูกค้าบุคคล ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ สินเชื่อบัวหลวงพูนผลกรีน และสินเชื่อบ้านบัวหลวงกรีน ยอดวงเงินสินเชื่อรวมกันกว่า 70 ล้านบาท

  • สินเชื่อบัวหลวงพูนผลกรีนและสินเชื่อบ้านบัวหลวงกรีน

    ธนาคารตระหนักถึงความต้องการด้านที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงได้เริ่มนำเสนอสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษภายใต้ “สินเชื่อบัวหลวงพูนผลกรีน” มาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อส่งเสริมการปรับปรุงที่อยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทน หรือเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เช่น การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา การใช้พลังงานลมระบายความร้อน การติดตั้งเครื่อง EV Charger เป็นต้น รวมไปถึงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ในปี 2566 ธนาคารได้นำเสนอสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษภายใต้ “สินเชื่อบ้านบัวหลวงกรีน” สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นพันธมิตรกับธนาคาร อีกทั้งธนาคารได้มีความร่วมมือกับพันธมิตร ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล และบริษัท เน็กซเตอร์ ดิจิตอล แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (คิวช่าง) จัดแคมเปญพิเศษสำหรับลูกค้าที่สมัครสินเชื่อบัวหลวงพูนผลกรีนตามเงื่อนไขของธนาคาร โดยมอบอัตราดอกเบี้ยพิเศษและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ฟรีค่าสำรวจและประเมินหลักทรัพย์ ส่วนลดพิเศษในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น


ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนหรือด้าน ESG

ธนาคารมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการระดมทุนให้แก่กิจกรรมที่ส่งเสริมความยั่งยืนของภาครัฐและเอกชน ผ่านการเป็นผู้จัดการการจำหน่ายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนที่ดำเนินการตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล และการเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านการระดมทุนสีเขียว (Green Structuring Advisor) ในปี 2566 ตลาดทุนไทยมีมูลค่าการออกตราสารหนี้ด้าน ESG รวม 37,366 ล้านบาท ซึ่งธุรกรรมที่ธนาคารเป็นผู้จัดการการจำหน่ายมีมูลค่า 28,366 ล้านบาท หรือร้อยละ 76 ของมูลค่าตราสารหนี้ด้าน ESG ทั้งหมดที่จัดออกในตลาดทุนไทย



กองทุนเพื่อความยั่งยืน

ธนาคารร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในเครือทำการพิจารณาคัดเลือกและนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนเกี่ยวข้องกับ ESG หรือส่งเสริมความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในปี 2566 ธนาคารได้นำเสนอกองทุนใหม่ คือ กองทุนรวมบัวหลวงทศพลไทยเพื่อความยั่งยืน (B-TOP-THAIESG) ทำให้ ณ สิ้นปี 2566 ธนาคารมีการเสนอขายกองทุนเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ้น 9 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเท่ากับ 14,732.15 ล้านบาท

กองทุน

กลยุทธ์การลงทุน

รายละเอียด

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (ล้านบาท)

กองทุนรวมคนไทยใจดี (B-KIND)

ESG Integration

ลงทุนในบริษัทที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมใน 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชั่น กองทุนมีนโยบายนำร้อยละ 40 ของรายได้จากค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนไปบริจาคให้แก่มูลนิธิหรือหน่วยงานพัฒนาสังคม

421.38

กองทุนรวมบัวหลวงหุ้นธรรมาภิบาลไทย (B-THAICG)

กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาล (BSIRICG) และ

กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาลเพื่อการเลี้ยงชีพ (BSIRIRMF)

ESG Integration

ลงทุนในบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยพิจารณาจากการจัดอันดับ CG Scoring ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และกองทุน B-THAICG ยังมีการพิจารณาถึงการได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

6,664.26

กองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน
(B-SIP)

กองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืนเพื่อการเลี้ยงชีพ
(B-SIPRMF)
และ

กองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืนเพื่อการออม
(B-SIPSSF)

Thematic Investing

ลงทุนในบริษัททั่วโลกที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนการผลิตสินค้าและบริการ

6,260.99

กองทุนเปิดบีแคป คลีน อินโนเวชั่น
(BCAP-CLEAN)

Thematic Investing

ลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับนวัตกรรมที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เช่น พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะ อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน เป็นต้น

567.96

กองทุนรวมบัวหลวงทศพลไทยเพื่อความยั่งยืน (B-TOP-THAIESG)

Thematic Investing

ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านความยั่งยืน

817.56


การมีส่วนร่วมกับลูกค้าในประเด็นด้าน ESG

ธนาคารสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลในประเด็นเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายด้าน ESG ผ่านการการออกบูธเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน การจัดงานสัมมนา และการให้ความรู้ผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ของธนาคารไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ Facebook หรือ YouTube นอกจากนี้ ธนาคารยังร่วมมือกับบริษัทในเครือ หน่วยงานพันธมิตร และลูกค้า ในการจัดกิจกรรมความรู้ด้าน ESG อย่างต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมที่สำคัญในปี 2566 เช่น

  • การจัดงานสัมมนา “SME Transformation: เปลี่ยนผ่านธุรกิจ เติบโต ยั่งยืน” ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี เพื่อเสริมศักยภาพของเอสเอ็มอีให้สามารถรับมือกับความท้าท้ายและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารธนาคารและองค์กรพันธมิตรมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการปรับตัวของเอสเอ็มอีไทยในยุคดิจิทัลและการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น มาตรการใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านแรงงานของประเทศคู่ค้า
  • การจัดสัมมนาออนไลน์ให้แก่ลูกค้าของสายงานธุรกิจรายกลางและธุรกิจรายปลีกเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการธุรกิจยุคใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยธนาคารได้เชิญตัวแทนจากพันธมิตรทางธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอกมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ พร้อมทั้งแนะนำผลิตภัณฑ์สินเชื่อบัวหลวงกรีนและบัวหลวงกรีน Solar Energy ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ในปี 2566 มีการจัดสัมมนาออนไลน์ 6 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นกว่า 1,900 คน
  • การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียรู้เกี่ยวกับการระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ด้าน ESG ให้แก่กลุ่มธุรกิจหลากหลาย เช่น กลุ่มธุรกิจค้าปลีก กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
  • การสื่อสารข้อมูลความรู้ด้าน ESG หรือด้านความยั่งยืนให้กับลูกค้าที่ใช้บริการโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ ในรูปแบบสื่อ Snap on Mobile ตั้งแต่เดือนสิงหาคม – ธันวาคม 2566

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ