การดึงดูดและพัฒนาพนักงาน

ความมุ่งมั่น


การสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยการเสริมสร้างทักษะใหม่เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของธนาคาร สนับสนุนการพัฒนาเส้นทางอาชีพสำหรับอนาคต พร้อมทั้งดูแลรักษาพนักงานที่มีความสามารถ

ความสำคัญ


การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายและแตกต่างไปจากอดีต ล้วนแต่เป็นโอกาสและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ส่งผลให้ธนาคารต้องปรับตัวโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และคุณภาพบริการให้ดีขึ้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และรสนิยมของลูกค้าในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การปรับตัวดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากบุคลากรที่มีทักษะความรู้ในจำนวนที่มากเพียงพอ โดยเฉพาะบุคคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและกระบวนการทำงานสมัยใหม่ ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะความสามารถของพนักงานควบคู่กับการดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีศักยภาพ ผ่านการจัดโครงการอบรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการพนักงานความสามารถสูง การกำหนดเส้นทางการเติบโตในอาชีพ การให้โอกาสในการพัฒนาทักษะอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และการกำหนดผลตอบแทนที่สอดคล้องกับทักษะความสามารถและผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้พนักงานสามารถเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้อย่างมั่นคง เป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนธนาคารไปสู่จุดหมายต่อไป
การบริหารจัดการ

การพัฒนาศักยภาพของพนักงาน

ธนาคารพัฒนาศักยภาพของพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับปัจจุบันและอนาคต พัฒนาภาวะผู้นำ และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายและความไม่แน่นอนในโลกธุรกิจ ในปี 2566 ธนาคารให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะความรู้ 2 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาทักษะเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของธนาคาร (Business as Usual: BAU) และด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งเน้นทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต (Future Skill) อันเป็นพื้นฐานในการสร้างพนักงานให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วยนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลให้กับลูกค้า ชุมชน และสังคม อันเป็นรากฐานของธนาคารในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังนี้


นอกจากนี้ ธนาคารได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภายในและภายนอกธนาคารในการออกแบบหลักสูตรและแนวทางการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และความคิดเชิงตรรกะที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจของธนาคาร เน้นการเรียนรู้จากการลงมือทำงานจริงและการสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม แนวทางดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้แล้วในบางโครงการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพพนักงาน ทั้งนี้ ในปี 2566 ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเท่าเทียมกันในที่ทำงาน รวมถึงสนับสนุนความก้าวหน้าในหน้าที่การงานให้แก่ผู้บริหารหญิงอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจึงได้สนับสนุนให้ผู้บริหารหญิงเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาและเพิ่มทักษะในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น ด้วยความเชื่อมั่นว่า แนวคิดและมุมมองของผู้หญิงจะช่วยสร้างความหลากหลาย ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และช่วยให้บริษัทสามารถเติบโตไปยังทิศทางใหม่ ๆ ได้

 

การดึงดูดพนักงาน

เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นใหม่พร้อมทั้งดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถให้มาร่วมงานกับธนาคาร ธนาคารได้มีการดำเนินการ ดังนี้

  • การปรับปรุงกระบวนการสรรหาและคัดเลือกพนักงานเพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว รวมถึงการให้ผู้สมัครงานสามารถทำแบบทดสอบทางออนไลน์ได้
  • การปรับภาพลักษณ์ของธนาคารให้มีความทันสมัย รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสื่อสารบรรยากาศการทำงานในธนาคารและวัฒนธรรมองค์กร
  • การร่วมกับพันธมิตรจัดกิจกรรม Career Explorer/ Career Roadshow ให้แก่นักศึกษากลุ่มเป้าหมายที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นความสนใจให้มาทำงานในภาคการเงินการธนาคาร
  • การจัดโครงการ Referral Program เพื่อแนะนำเพื่อนหรือคนรู้จักให้เข้ามาร่วมงานกับธนาคาร โดยเน้นตำแหน่งงานที่ตลาดต้องการสูงและเป็นตำแหน่งที่สำคัญเฉพาะ (Critical)
  • การเปิดรับนักศึกษาฝึกงานที่กำลังศึกษาอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศภายใต้โครงการ “Bangkok Bank Student Internship Program” โดยการฝึกงานจะเน้นการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบการเรียนแบบเชิงรุก (Active Learning) และการเรียนรู้โดยใช้การทำโครงการจริงเป็นฐาน (Project Based Learning)
  • การให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทในสถาบันการศึกษาในประเทศและต่างประเทศแก่พนักงานและบุคคลภายนอกที่มีความสามารถ

การบริหารจัดการพนักงานความสามารถสูง

ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพนักงานความสามารถสูง (Talent Management) ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือก พัฒนา และดูแลรักษาพนักงานความสามารถสูงตั้งแต่ระดับพนักงานไปจนถึงระดับผู้บริหาร เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นหัวหน้างานและให้เกิดความต่อเนื่องของการสืบทอดตำแหน่งงานที่สำคัญ พนักงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพนักงานความสามารถสูงจะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมทั้งด้านผลการปฏิบัติงาน (Performance) ด้านศักยภาพ (Potential) พร้อมทั้งมีคุณลักษณะตรงกับคุณค่าหลักของธนาคาร โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพศใด ธนาคารได้มีการจัดทำแผนการพัฒนาและแผนเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพเพื่อพัฒนาทักษะที่เหมาะสมให้กับพนักงานความสามารถสูงแต่ละกลุ่ม มีการเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานความสามารถสูงเพื่อให้เป็นผู้บริหารแห่งอนาคตที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งมีเวทีให้พนักงานความสามารถสูงแสดงศักยภาพของตน นอกจากนี้ ธนาคารยังคอยดูแลค่าตอบแทนของพนักงงานความสามารถสูงให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าธนาคารให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาพนักงานความสามารถสูง พร้อมทั้งมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของพนักงานความสามารถสูงอย่างต่อเนื่อง


การประเมินผลการปฏิบัติงาน

ธนาคารกำหนดแนวทางและเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานที่เป็นระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายการทำงานประจำปีทั้งในระดับบุคคล (Management by Objectives) และระดับทีม (Team-based Performance Appraisal) ผลการประเมินที่ได้นอกจากจะถูกนำไปใช้ประกอบการพิจารณาค่าตอบแทนแล้ว ยังถูกนำไปใช้ในการติดตามและกำหนดแนวทางการพัฒนาการทำงานของพนักงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานภายในทีม ข้ามทีม หรือข้ามหน่วยงาน ธนาคารจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานปีละ 2 ครั้งสำหรับพนักงาน และปีละ 1 ครั้งสำหรับพนักงานระดับผู้บริหาร ธนาคารมีการปรับปรุงการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานเป็นระยะ โดยล่าสุดได้มีการนำการประเมินรูปแบบใหม่มาใช้กับบางหน่วยงาน เช่น การประเมินผลการปฏิบัติงานแบบ 360 องศา (360-degree Feedback) และการฝึกสอนและรับคำติชม (Coaching and Feedback) เป็นต้น ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ถึงปัญหาในการทำงานตลอดจนแนวทางการพัฒนาพนักงานและการสนับสนุนที่จำเป็นต่าง ๆ

กิจกรรมการให้ความรู้และการฝึกอบรมที่สำคัญ
ในปี 2566 ธนาคารได้จัดโครงการฝึกอบรมและเปิดเวทีให้พนักงานแสดงความสามารถ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบัน ดังนี้

 

ความยั่งยืน

ธนาคารยึดถือการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการธนาคารเพื่อความยั่งยืนและการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจให้แก่พนักงาน โดยมุ่งหวังให้พนักงานสามารถนำความรู้ต่าง ๆ ไปปรับใช้ในการทำงานจริง การให้ความรู้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้


  1. การอบรมทั่วทั้งองค์กร ธนาคารได้จัด ESG Forum ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อเปิดมุมมองใหม่และให้ความรู้แก่ผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนคู่ค้าและลูกค้าธนาคารซึ่งมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับมิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีหัวข้อดังนี้ 1. “การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและทางรอดของธุรกิจในยุคโลกรวน” 2. “ลดต้นทุนธุรกิจด้วยพลังงานสะอาด Solar Rooftop” 3. “ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตและพลังงานทดแทน โอกาสของธุรกิจในยุคโลกรวน” 4. “Carbon Footprint, Carbon Credit and Carbon Credit Market กับบทบาทงานสินเชื่อในปัจจุบันและอนาคต” 5. “ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ การลดคาร์บอน และโอกาสทางธุรกิจ” 6. “Pathway to Net Zero Building” 7. “Inside Thailand Taxonomy: Journey to Sustainability” 8. “บัวหลวงประสานพลังคู่ค้า ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยพลังงานสะอาด”
  2. การอบรมกลุ่ม BU Champion ธนาคารได้จัดอบรมเกี่ยวกับการเงินเพื่อความยั่งยืนให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านสินเชื่อที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 46 คน (BU Champion) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญประจำสายงานที่สามารถให้คำปรึกษากับเพื่อนร่วมงานได้ ผู้ร่วมโครงการได้รับการพัฒนาความรู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ได้เข้าเรียนหลักสูตรอบรมด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนที่จัดขึ้นโดย ASFI Academy ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเพื่อเปิดมุมมองด้านธุรกิจที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งได้เข้าร่วมใน Sharing Session เพื่อรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนของธนาคารในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อความยั่งยืนและแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

โครงการ Knowledge Day 2023

ธนาคารได้จัดโครงการ Knowledge Day เป็นประจำทุกปี เพื่อให้ความรู้และเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในยุคปัจจุบัน รวมทั้งสนับสนุนให้พนักงานสามารถพัฒนาตนเองและปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล สามารถมองเห็นและสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจให้แก่ธนาคารได้ ในปี 2566 ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด “Be the Change: Starting with You” ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคาร โดยมีหลักสูตรการอบรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 



โครงการ Tech Adoption Challenge Season 3

ในปี 2566 ธนาคารได้จัดโครงการ Tech Adoption Challenge ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในรูปแบบของการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำโครงการจริง (Project Based Learning) ภายใต้แนวคิด Be the Change Starting with You โครงการดังกล่าวมุ่งส่งเสริมและกระตุ้นให้พนักงานได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี พร้อมทั้งสามารถออกแบบความคิดริเริ่มในการแก้ปัญหา (Initiative Solutions) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โครงการมุ่งหวังให้เกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leader) ที่กล้าคิดกล้าลงมือทำโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity) และขับเคลื่อนธนาคารให้เป็นองค์กรอัจฉริยะ (Intelligent Organization) ในปี 2566 มีพนักงานเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 176 คน แบ่งออกเป็น 43 ทีม ความคิดริเริ่มจากทั้ง 43 ทีมสามารถช่วยให้ธนาคารลดค่าใช้จ่ายในการจ้าง Vendor เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันได้ 14 ล้านบาทต่อปี ลดเวลาทำงานจากเดิมกว่า 53,000 ชั่วโมงต่อปี ให้เหลือ 20,606 ชั่วโมงต่อปี และลดการใช้กระดาษได้กว่า 1.45 ล้านแผ่นต่อปี ซึ่งช่วยประหยัดเงินได้ 650,000 บาทต่อปี ลดการตัดต้นไม้ 123,061 ต้น ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกกว่า 15,991 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า

 

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ