New Year’s Resolution คืออะไร ตั้งเป้าหมายปีใหม่ยังไงให้สำเร็จในปีนี้
ปีใหม่ เปรียบเสมือนการเริ่มต้นใหม่ หลาย ๆ คนถือโอกาสนี้ในการตั้งเป้าหมายจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น จึงได้เกิดการตั้ง “New Year’s Resolution” ขึ้นมา
แต่พอเวลาผ่านไป หลาย ๆ คนอาจพบว่าเป้าหมายปีใหม่ที่ตั้งไว้เริ่มห่างไกลออกไปทุกที เพราะจริง ๆ แล้วการตั้งเป้าหมายปีใหม่เป็นเรื่องละเอียดกว่าที่เราคิด!
ใครพร้อมแล้ว จัดเวลาในการเตรียมตัววางเป้าหมายสักหน่อย แล้วมาดูวิธีทำเป้าหมายปีใหม่ให้สำเร็จกัน
New Year’s Resolution คืออะไร?
New Year’s Resolution หรือปณิธานปีใหม่ คือการตั้งเป้าหมายหรือสัญญากับตัวเองว่าจะทำอะไรบางอย่างในปีใหม่เพื่อพัฒนาตัวเองหรือสร้างประโยชน์ให้กับคนรอบข้างและสังคม เช่น ลดน้ำหนัก เรียนรู้ทักษะใหม่ เก็บเงิน หรือร่วมกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ซึ่งปกติแล้วเรามักจะเริ่มตั้งเป้าหมายปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี
ทำไมคนถึงตั้งเป้าหมายปีใหม่
- เป็นช่วงเวลาที่เหมาะจะเริ่มต้นใหม่: ปีใหม่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นใหม่ที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปรียบเหมือนซีรีส์ซีซันใหม่ที่เรารอติดตามตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้นกว่าเดิม
- เป็นแรงบันดาลใจ: การตั้งเป้าหมายจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนให้เรามีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เราเลือกแล้วว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อตัวเองและผู้อื่น
- เป็นความหวัง: เป็นการสร้างความคาดหวังว่าปีนี้เราจะมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นในชีวิต ความสำเร็จจะเกิดขึ้นกับตัวเรา ความหวังว่าเราจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
สิ่งที่อาจเป็นเหตุผลให้เป้าหมายปีใหม่ล้มเหลว
- เป้าหมายใหญ่เกินไปไหม?
- การตั้งเป้าหมายที่ใหญ่เกินไป เวลาลงมือทำจริง อาจเกิดความรู้สึกว่ายาก ท้อแท้ และคิดว่าคงจะไม่สำเร็จ ทำให้ถอดใจได้ง่าย เช่น ตั้งเป้าหมายเก็บเงินหลักล้าน ในขณะที่ปกติเก็บเงินได้หลักหมื่น
- ขาดแผนการลงมือทำหรือเปล่า?
- ในตอนทำงาน ปกติจะต้องมีการวางแผนว่าจะทำอะไรบ้าง เพื่อทำงานบางอย่างให้สำเร็จ การตั้งเป้าหมายปีใหม่ก็เช่นกัน หากมีแต่เป้าหมายแต่ไม่มีวิธีลงมือทำ เวลาลงมือทำจริงจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติ เช่น ตั้งเป้าหมายอยากลดน้ำหนัก ซึ่งต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจสูง แต่หากเราไม่ได้วางแผนว่าจะกินยังไง ออกกำลังกายวันไหน สุดท้ายเราก็จะผัดวันไปเรื่อย ๆ เพราะเราไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะทำมัน
- ขาดแรงจูงใจหรือเปล่า?
- เมื่อขาดแรงจูงใจเราก็จะขาดความกระตือรือร้นในการทำตามเป้าหมาย และหากเรารู้สึกไม่ได้อยากทำมันมากพอ เราก็สามารถทิ้งเป้าหมายนั้นได้โดยง่าย
วิธีการตั้งเป้าหมายปีใหม่ให้สำเร็จ
สิ่งสำคัญคือการพยายามทำให้แต่ละวันของเรา ใช้ความพยายามน้อยที่สุด ในการเริ่มต้นทำเพื่อเป้าหมาย ยิ่งเราวางแผนไว้ละเอียดและง่ายแค่ไหน เรายิ่งมีโอกาสทำสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น วันนี้เราเลยขอเอาเทคนิคง่าย ๆ มาฝากกัน
- แบ่งเป้าหมายใหญ่เป็นเป้าหมายย่อย: แนะนำให้ตั้งเป้าหมายใหญ่ และแบ่งเป็นเป้าหมายย่อย ๆ เพื่อให้ทำตามได้ง่ายขึ้น
- ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน มีกรอบเวลากำหนด เป็นไปได้จริง และวัดผลได้ ตามหลัก SMART goal
- Specific (เจาะจง): เป้าหมายต้องเขียนอย่างชัดเจน เช่น จากที่เขียนว่า “ปีนี้จะเก็บเงิน” ลองเพิ่มรายละเอียดเป็น “ปีนี้จะเก็บเงินสำรองฉุกเฉินให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย 3 เดือน โดยเมื่อได้รับเงินมาจะกันเงินส่วนนี้ไว้ก่อน ที่เหลือค่อยนำไปใช้จ่าย”
- Measurable (วัดผลได้): เป้าหมายต้องวัดผลได้ ถ้าทำได้ตามนี้แปลว่าทำสำเร็จ เช่น “เก็บเงินได้ 2,000 บาทต่อเดือน” หรือ “เก็บเงิน 10% จากรายได้ทุกเดือน”
- Achievable (ทำได้จริง): เป้าหมายต้องเป็นไปได้ ไม่ยากเกินไป เช่น มีรายรับต่อเดือน 20,000 บาท จะตั้งเป้าหมายเก็บเงินปีละ 300,000 บาทคงเป็นไปได้ยาก
o Relevant (เกี่ยวข้อง): เป้าหมายต้องมีความสำคัญและสอดคล้องกับชีวิตของคุณ เช่น ต้องเก็บเงินก้อนนี้ไว้เป็นเงินสำรองเผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ตกงาน หรือเป็นค่ารักษาตัวเมื่อป่วยกะทันหัน
- Time-bound (มีกำหนดเวลา): มีเดดไลน์ที่ชัดเจน เช่น ต้องเก็บเงินสำรองฉุกเฉินให้ครบภายในปีนี้
- วางแผนการปฏิบัติ: สร้างแผนการปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นขั้นตอน กรณีตั้งเป้าหมายลดน้ำหนัก อาจวางแผนการกินและการออกกำลังกายในแต่ละวันให้แตกต่างกันไป เช่น ทุกวันจันทร์จะกินสลัดเป็นมื้อเย็น และวิ่ง 30 นาที วางแผนสำหรับทั้งสัปดาห์ไปทุกเดือน จนลดถึงน้ำหนักที่เราตั้งใจ โดยแผนนี้จะต้องคำนึงถึงตารางเวลาชีวิตและการทำได้จริงด้วย
- หาเพื่อนร่วมทาง: ชวนเพื่อนหรือคนรอบข้างมาร่วมทำเป้าหมายเดียวกัน พอมีคนร่วมเป้าหมายแล้ว จะมีคนคอยติดตามกันและกันให้ทำตามเป้าหมายอยู่เสมอ
- ให้รางวัลตัวเอง: เมื่อบรรลุเป้าหมายย่อยแล้ว อย่าลืมให้รางวัลกับตัวเองเพื่อเป็นกำลังใจในการทำตามเป้าหมายต่อจนสำเร็จ
ตัวอย่างเป้าหมายปีใหม่ที่เป็นประโยชน์
- ด้านการเงิน
- ทำรายรับรายจ่าย : ดูภาพรวมการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปพัฒนาไปทำงบการเงินส่วนตัว
- ทำงบการเงินส่วนตัว : พอรู้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนแล้ว ก็จะสามารถคาดการณ์ค่าใช้จ่ายต่อเดือนล่วงหน้าได้ ทำให้จัดการเงินได้ง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- จ่ายเงินให้ตัวเองก่อน : ใช้ฟีเจอร์ ตั้งโอนล่วงหน้า หักเก็บเงินออมไว้ทุกเดือน จะได้ไม่ลืมออมเงิน
- เก็บเงินสำรองฉุกเฉินให้ครบ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน : เก็บในบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงบนโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ เพื่อสภาพคล่องทางการเงิน เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน
- ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น : เช่น ทำชาเลนจ์ No Buy Month หรือจำกัดการไปกินข้าวนอกบ้าน
- จำกัดการใช้บัตรเครดิต : ป้องกันตัวเองไม่ให้รูดบัตรเพลิน ลองลดวงเงินทำรายการต่อวัน และอย่าลืมหักเงินสดเก็บไว้จ่ายบัตรเครดิตทุกครั้งที่รูด เพื่อชำระเต็มจำนวน
- ลงทุน : ซื้อกองทุนทุกเดือน หากใครมีบัญชีกองทุนบนโมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพอยู่แล้ว สามารถใช้ฟีเจอร์ DCA เพื่อให้หักเงินจากบัญชีมาลงทุนแบบอัตโนมัติทุกเดือนได้เลย
- ด้านสุขภาพ
- ลดน้ำหนักให้ได้ตามเป้าหมาย ภายในระยะเวลา 3 เดือน
- ออกกำลังกาย 4 วันต่อสัปดาห์
- นอนครบ 8 ชั่วโมงต่อวัน
- งดกินของหวาน ของมัน และของทอด 1 เดือน
- ด้านพัฒนาตนเอง
- เรียนรู้ภาษาใหม่ให้ได้ 1 ภาษา
- อ่านหนังสือให้จบเดือนละ 1 เล่ม
- พัฒนาทักษะใหม่ ๆ เช่น ฝึกเขียนโค้ด เรียนคอร์สออนไลน์
- ด้านความสัมพันธ์
- พาครอบครัวไปเที่ยว 1 ทริป
- กินข้าวกับเพื่อนเดือนละ 1 ครั้ง
- สร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ เช่น เข้าชมรมวิ่ง ดำน้ำ เวิร์กชอปกิจกรรมต่าง ๆ
และทั้งหมดนี้คือวิธีการตั้ง New Year’s Resolution ที่อยากจะแนะนำให้ลองทำกัน การตั้งเป้าหมายปีใหม่ถือเป็นก้าวแรกที่ดีสำหรับการตั้งใจใช้ชีวิตตลอดปีนี้ เมื่อวางแผนดี ๆ รับรองว่ามีโอกาสทำสำเร็จได้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือการทำตามแผนที่วางไว้ เติมพลังกายพลังใจให้พร้อม และยินดีกับตัวเองเมื่อทำสำเร็จ ขอให้ทุกคนมีปีที่ดีนะ