วางแผนเกษียณทั้งที...มีอะไรต้องคิดบ้าง

เริ่มต้นวางแผนให้เร็วที่สุด เพื่อมั่นใจได้ว่าเราจะเกษียณได้แบบชิลๆ ตามที่ต้องการ

อายุเกษียณและอายุขัย

ลองถามตัวเองว่าต้องการเกษียณตอนอายุเท่าไร และประมาณการจำนวนปีที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ เพื่อจะได้รู้ว่าเรามีเวลาเตรียมตัว เตรียมเงิน อีกนานเท่าไร

ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

คำนวณและเตรียมเงินไว้เพื่อใช้หลังเกษียณ ทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายพิเศษ เช่น ท่องเที่ยว สำรองเผื่อเจ็บป่วย

เงินออมที่มีอยู่แล้ว

เช็คดูว่าเรามีเงินออมอยู่เท่าไร เพียงพอหรือไม่ เช่น เงินฝาก เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินกองทุนประกันสังคม เงินประกันชีวิต กองทุนรวม RMF เป็นต้น

เงินที่ต้องออมเพิ่ม

เปรียบเทียบเงินออมที่มีอยู่ และเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณ หากพบว่าเงินที่เราออมไว้ยังห่างจากเป้าหมายที่ต้องการ ก็ต้องเร่งวางแผนเพื่อให้เงินออมงอกเงย

วางแผนการออม

เริ่มจากการจดบัญชีรายรับ-รายจ่าย จากนั้นลงมือออมเงินอย่างต่อเนื่องและมีวินัย และอาจลงทุนเพิ่ม เพื่อช่วยต่อยอดเงินออม

ทบทวนเป้าหมาย

ทบทวนว่าเราทำตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่ ต้องเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายอย่างไร ต้องบริหารเงินออมเงินลงทุนให้ได้ผลตอบแทนอย่างไรบ้าง

มาคำนวณเงินไว้ใช้ยามเกษียณกันเถอะ

เริ่มจากประเมินค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ก่อน จากนั้นก็คำนวณเงินออมว่าควรจะมีเท่าไร ณ วันที่ต้องเกษียณ

ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ


  • ประเมินจากไลฟ์สไตล์
    เทียบเคียงกับค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนในปัจจุบัน และปรับให้เหมาะกับ “ไลฟ์สไตล์” ที่เราคาดว่าจะใช้หลังเกษียณ ว่าเราต้องการจะอยู่แบบพอเพียง หรือหรูหรา ต้องการจะพักผ่อน หรือท่องเที่ยวบ่อยแค่ไหน

  • ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ
    เตรียมเงินเผื่อไว้มากขึ้นด้วย เมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในอนาคต เพราะค่าใช้จ่ายที่ประเมินไว้เป็นเพียงค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน

  • ปรับสมดุลรายได้-รายจ่าย
    ลองลิสต์และจัดกลุ่มแหล่งรายได้ว่าเป็น “เงินก้อน” หรือ “รายได้ประจำ” จากนั้นนำมาหักลบด้วยค่าใช้จ่าย เพื่อประเมินสถานะและวางแผนจัดสรรเงินให้เหมาะสม

เงินที่ต้องมีในวันเกษียณ 


  • แนวคิดที่ 1: นำเงินออมมาใช้จ่าย

    เงินที่ควรมี ณ วันเกษียณ = ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ x 12 เดือน x จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ

  • แนวคิดที่ 2: นำดอกผลของเงินออมและเงินลงทุนมาใช้จ่าย

    เงินที่ควรมี ณ วันเกษียณ = ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ x 12 เดือน และหารด้วย ประมาณการอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของเงินออมและเงินลงทุนในช่วงหลังเกษียณ (% ต่อปี)


การวางแผนเกษียณนั้น อาจต้องใช้เวลานาน แต่รับรองว่าเราสามารถทำได้เพื่อ “เกษียณสุข” แค่เริ่มต้นดี เริ่มต้นเร็ว เท่านั้นเอง

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ