การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความมุ่งมั่น


การสร้างความตระหนักรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร ใช้ระบบจัดการด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพและลบรอยเท้าด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นองค์กรสีเขียวที่สร้างคุณค่าในระยะยาวให้แก่สังคมและธนาคาร

ความสำคัญ


ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในวงกว้าง แม้ว่าการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นจะเป็นภารกิจระดับชาติ แต่ก็มีบางส่วนที่สามารถเริ่มดำเนินการในระดับองค์กรได้ทันที ธนาคารได้ยกระดับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมภายในธนาคารให้มีความเข้มข้นและเป็นระบบมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของธนาคารเอง ชุมชนรอบข้าง ตลอดจนสังคมส่วนรวมผ่านการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงานที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากร การลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของธนาคารโดยตรง การจัดการขยะอย่างครบวงจร ไปจนถึงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน ธนาคารมุ่งหวังว่าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคารจะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐและเอกชนอื่น ๆ และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายส่วนรวมในที่สุด ธนาคารยังคงมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 ของธนาคาร ซึ่งอ้างอิงจากการตั้งเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ที่ควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Science -based Target Setting - Absolute Contraction Approach) ตลอดจนการดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์
การบริหารจัดการ
การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงาน ธนาคารให้ความสำคัญกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอันอาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของธนาคาร ธนาคารได้กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานเพื่อสร้างกรอบการดำเนินการที่ชัดเจน และได้นำมาตรฐานสากล ISO 14001: 2015 มาปรับใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งครอบคลุมการวางแผน การกำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติการ การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การติดตามผล การดำเนินงาน การกำหนดแนวทางการปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือการจัดการข้อมูลด้านการใช้พลังงานและทรัพยากร ธนาคารเชื่อมั่นว่าการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบจะช่วยให้การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานของธนาคารมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน อีกทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานของธนาคาร เพื่อปลูกฝังให้พนักงานมีจิตอนุรักษ์พร้อมทั้งปฏิบัติเป็นปกติวิสัย



การดำเนินงานที่สำคัญ

ธนาคารมุ่งมั่นสร้างจิตสำนึกและความตระหนักรู้ในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานให้แก่พนักงานทุกคน ตลอดจนลูกค้า คู่ค้า และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ของธนาคาร รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานภายใต้โครงการ Bualuang Save the Earth ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมหลากหลายที่นำไปสู่การลดการใช้พลังงาน การลดการใช้ทรัพยากร การลดขยะ และการลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ธนาคารยังให้การสนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้างความตระหนักรู้และจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานให้แก่ชุมชนและประชาชนทั่วไป

การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการใช้ทรัพยากร

  • โครงการปรับปรุงระบบแสงสว่าง

    ธนาคารได้ทยอยเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าฟลออเรสเซนต์ในอาคารต่าง ๆ ทั่วประเทศให้เป็นหลอด LED มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ได้เปลี่ยนหลอดไฟฟ้ารวมกว่า 3,500 หลอด ซึ่งคาดว่าจะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 141,577 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 71 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

  • โครงการปรับปรุงห้องน้ำในกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่

    ธนาคารได้ปรับปรุงห้องน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและไฟฟ้า ตลอดจนยกระดับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยการทยอยติดตั้งอุปกรณ์ที่มีเซนเซอร์อัจฉริยะสามารถเปิดปิดน้ำและไฟเฉพาะเวลาที่มีการใช้งาน รวมทั้งติดตั้งสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำในห้องน้ำภายในกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่ 5 อาคาร ได้แก่ อาคารสำนักงานใหญ่ อาคารสำนักงาน พระราม 3 อาคารตรีทิพย์ อาคารแสงทอง และอาคาร 3 ทั้งนี้ คาดว่าอุปกรณ์ใหม่ดังกล่าวจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรได้กว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับอุปกรณ์เดิม


การลดการใช้พลังงานและทรัพยากร

  • โครงการ Bualuang Save the Earth: Reduce Reuse Recycle

    ด้วยตระหนักถึงความท้าทายในการจัดการขยะฝังกลบของประเทศ ประกอบกับต้องการส่งเสริมการนำวัสดุใช้แล้ว กลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ธนาคารจึงดำเนินโครงการจัดการขยะอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางในกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่ 5 อาคาร โดยนำหลักการ 3R ได้แก่ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) มาใช้ในการจัดการโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ
    1. การรักษาสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณขยะ การใช้พลังงานและทรัพยากรต่าง ๆ อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
    2. การสร้างความตระหนักรู้ในด้านการใช้ทรัพยากรและการคัดแยกขยะในชีวิตประจำวัน
    3. การส่งเสริมความร่วมมือของพนักงานในธนาคาร ธนาคารได้ติดตั้งถังขยะ แบบแยกประเภทไปแล้ว 1,066 ถัง พร้อมทั้งได้สร้าง ความตระหนักรู้และรณรงค์ให้พนักงานลดและคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีผ่านทางช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ของธนาคารอย่างต่อเนื่อง โดยขยะแต่ละประเภทจะถูกคัดแยกและเก็บรวบรวมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป
    4. การสร้างความตระหนักรู้และการสนับสนุนกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน

  • โครงการบัวหลวงรักษ์พลังงาน

    ธนาคารส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับมีความตระหนักรู้และเข้าใจด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยได้จัดทำหลักสูตรการจัดการพลังงานในอาคาร ผ่านช่องทางออนไลน์ BBLearn ณ สิ้นปี 2565 มีพนักงานเข้าเรียนทั้งหมด 14,776 คน หรือ ร้อยละ 77.40 ของพนักงานทั้งหมด แบ่งเป็นพนักงานในอาคารควบคุม 8,249 คน หรือร้อยละ 96 ของพนักงานทั้งหมดในอาคารควบคุม

  • โครงการพายเรือเพื่อแม่น้ำสามคลอง

    ธนาคารสนับสนุนกิจกรรมของอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยการเชิญชวนพนักงานและผู้สนใจร่วมเป็นจิตอาสาพายเรือเก็บขยะในคลองบางกอกน้อย คลองอ้อมนนท์ และคลองบางกรวย เพื่อลดปัญหาขยะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา-อ่าวไทย ช่วยฟื้นฟูคุณภาพแหล่งน้ำและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนริมฝั่งคลองในย่านประวัติศาสตร์ โครงการดังกล่าวมีเรือเก็บขยะกว่า 200 ลำ สามารถรวบรวมขยะได้ 221 กิโลกรัม โดยเป็นขยะที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล 84 กิโลกรัม หรือประมาณ 1 ใน 3 ของขยะที่เก็บได้ทั้งหมด

  • การประชุมการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ

    ธนาคารร่วมสนับสนุนการจัดการประชุมการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ ซึ่งจัดโดยโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริและมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำที่มีคุณค่ามีผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำระดับโลกกว่า 30 คน ร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและการจัดการน้ำเสีย และดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ได้รับเกียรติให้บรรยายในหัวข้อ “ความมั่นคงของทรัพยากรน้ำและระบบเศรษฐกิจ และบทบาทของธนาคารเกี่ยวกับเรื่องน้ำ”


การชดเชยคาร์บอนของอาคารสำนักงานใหญ่

ธนาคารมุ่งหน้าสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน โดยการเข้าร่วมกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 ธนาคารได้จัดซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) จำนวน 10,038 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของอาคาร สำนักงานใหญ่ สีลม ในปี 2564


ข้อมูลสถิติด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากร
ธนาคารได้นำระบบการจัดการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูล ลดข้อผิดพลาดในการจัดเก็บ และช่วยให้การตรวจสอบข้อมูลทำได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ เพื่อให้การรายงานข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ ธนาคารได้จัดใหมีการทวนสอบข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากร โดยผู้ทวนสอบจากหน่วยงานภายนอกที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ