สมัยนี้อะไรๆ ก็แพงขึ้น หลายครอบครัวคงจะประสบปัญหารายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่รายได้กลับไม่ได้ปรับตัวขึ้นตามเสียเท่าไหร่ จึงต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกไป แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามีค่าใช้จ่าย ก้อนใหญ่อยู่อย่างหนึ่งที่เราสามารถประหยัดได้ นั่นก็คือ “ภาษี” นั่นเอง

ก่อนอื่นเรามาดูกันว่าจะประหยัดภาษีได้อย่างไร โดยปกติแล้ว ทางกฎหมายมี “ค่าลดหย่อน” ให้กับเรา ได้แก่ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงค่าลดหย่อนอื่นๆ อีกมากมายเลยทีเดียว

แต่ในบรรดาค่าลดหย่อนเหล่านั้น จะมีอยู่บางประเภทที่จะช่วยทำให้เรามีเงินก้อนเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ เช่น เงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินสะสมกองทุนประกันสังคม เนื่องจากเงินที่เราจ่ายให้กับกองทุนเหล่านี้ กองทุนจะนำเงินของเราไปลงทุนเพื่อให้งอกเงย อีกทั้งเงินที่เราลงทุนไปนั้นจะสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ด้วย

เรามาดูค่าลดหย่อนส่วนที่น่าสนใจเพิ่มเติมกันดีกว่า

1. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) “ประหยัดภาษี มีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี”

LTF จะเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก เป็นการลงทุนในระยะยาว 5-7 ปีขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้ที่อยากให้เงินลงทุนมีโอกาสงอกเงย สามารถรับความเสี่ยงได้สูง โดยผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ลงทุนในกองทุน LTF ในปีภาษี 2562 (ปีสุดท้ายที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้) ไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท/ปี

2. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) “ประหยัดภาษี มีเงินใช้ สบายยามเกษียณ”

RMF เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายประเภท เหมาะสำหรับผู้ที่อยากออมเงินระยะยาวเพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยผู้ลงทุนต้องลงทุนต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 5 ปี และขายคืนได้เมื่อลงทุนต่อเนื่องจนถึงอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี การลงทุนในกองทุนประเภทนี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย แค่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมนิดนึงสำหรับกองทุน RMF คือ

เมื่อรวม เงินลงทุนในกองทุน RMF + เงินสะสมใน กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + เบี้ยประกันแบบบำนาญ + กองทุนสงเคราะห์ตามกฏหมายโรงเรียนเอกชน + เงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งหมดแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท/ปี



รู้จัก LTF/RMF กันไปแล้ว เรามาดูกรณีผิดเงื่อนไขการลงทุนกันหน่อย คลิกอ่านกันเลย



3. ประกันชีวิต “ประหยัดภาษี เป็นหลักประกันให้ครอบครัว”

ชีวิตมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ เรื่องประกันต้องวางแผนให้ดี ช่วยให้เราใช้ชีวิตให้มีความสุขอย่างเต็มที่ เพราะมีประกันชีวิตคุ้มครองดูแล ให้ความคุ้มครองทางการเงินรอบด้าน ทั้งเรื่องการออม การเตรียมพร้อมเพื่อการเกษียณ รวมทั้งสิทธิในการลดหย่อนภาษี โดยทั่วไปแล้วเบี้ยประกันชีวิตที่สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้มีอยู่ 3 ประเภทคือ

เบี้ยประกันชีวิตแบบคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

เบี้ยประกันสุขภาพ ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตรา 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดได้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

หลายคนอาจจะคิดว่าเบี้ยประกันเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จ่ายทิ้ง ไม่ได้อะไร ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เพราะประกันชีวิตบางแบบนั้น มีเงินคืนระหว่างสัญญาให้กับผู้ทำประกันด้วย หรือถ้าใครอยากที่จะมีบำนาญเป็นของตนเอง โดยที่ไม่ได้เป็นข้าราชการแต่อย่างใด ก็สามารถสมัครทำประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อรับเงินบำนาญเป็นงวดๆ หลังจากที่เราเกษียณ ถือเป็นอีกทางเลือกที่ดี


นอกจากนี้ เราสามารถลดหย่อนภาษีโดยการจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ และไลฟ์สไตล์ทางการเงินของเรา เช่น

  • ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็อาจจะมีประกันแบบบำนาญเยอะหน่อย จากนั้นก็ค่อยเลือกกองทุน RMF ประเภทที่มีความเสี่ยงต่ำ และเงินที่เหลือค่อยไปลงทุนกับกองทุน LTF ประเภทที่ลงทุนในหุ้นไม่เกิน 75%
  • ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้ปานกลาง เน้นลงทุนกับกองทุน RMF ประเภทที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางที่ลงทุนผสมทั้งในหุ้นและในตราสารหนี้ และเงินที่เหลือค่อยไปลงทุนกับกองทุน LTF และก็อาจจะมีประกันแบบบำนาญบ้าง
  • ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้สูง เน้นลงทุนกับกองทุน LTF เป็นหลัก เพื่อให้มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงมากขึ้น แบ่งบางส่วนไปลงทุนกับกองทุน RMF ที่ลงทุนในหุ้น และประกันแบบบำนาญ

ดังนั้น ก่อนที่จะนำรายได้มาลดหย่อนก็ต้องเช็คหลักเกณฑ์ให้แน่ใจ สิทธิลดหย่อนมีเท่าไหร่ใส่ให้ครบ วางแผนและเปรียบเทียบดีๆ เราก็จะแฮปปี้จากการประหยัดภาษี

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ